ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เซื่องซึมหมดอารมณ์จับจ่ายใช้สอยไปตามๆ กัน เมื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ออกมาสารภาพความจริงชนิดช็อกโลกว่า การส่งออกจะยังมีอาการติดลบร่อแร่ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี ซึ่งนั่นจะส่งผลถึงเศรษฐกิจที่คาดกันว่าจะกระเตื้องในครึ่งปีหลังนี้มีแนวโน้มฟุบต่ออีกยาว
แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าก็คือรัฐบาลยังดันทุรังใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้ผล
สัปดาห์ก่อนเทศกาลสงกรานต์วันหยุดยาว “หม่อมอุ๋ย” ได้ไปปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ "ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสเศรษฐกิจโลก" ในงานที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) จัดงานเสวนา "ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Trading Nation" เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 โดยร่ายยาวถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว เนื่องจากยุโรปเองยังไม่ฟื้น และเป็นทวีปที่มี 3-4 ประเทศ มีอัตราการว่างงานถึง 20% และอีกกว่า 10 ประเทศมีอัตราการว่างงานกว่า 10%
ขณะที่สหรัฐฯ ก็ยังไม่ฟื้นตัวพอที่จะมาเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลกเหมือนเดิม เพราะยังมีอัตราการว่างงานถึง 5.8% ส่วนญี่ปุ่นก็ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ด้านจีนก็อยู่ในระยะที่กำลังปราบปรามคอร์รัปชันส่งผลทำให้เศรษฐกิจส่วนเกินซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้จีดีพีของจีนที่เติบโตจากการจับจ่ายใช้สอยจากเงินส่วนนี้นั้นหายไป ทำให้จีดีพีของจีนชะลอตัวจาก 8% เหลือ 6% ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าชะลอตัวตาม
เมื่อผู้ซื้อรายใหญ่ทั้ง 4 ประเทศชะลอตัวลง เป็นเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกของไทย ทำให้ยอดส่งออกเดือนมกราคมที่ผ่านมา ลดลง 3.7% ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 6.1% และสภาผู้ส่งออกเชื่อว่าเดือนมีนาคมอาจจะลดลงอีก ทำให้การส่งออกในช่วง 3 เดือน อาจลดลงถึง 4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา
จากการส่งออกที่ลดลง ผลที่ตามมาก็คือมีการเก็บสต็อกน้อยลง การลงทุนในสต็อกสินค้าน้อยลง นั่นหมายความว่าผู้ที่ขายวัตถุดิบให้ผู้ส่งออกเหล่านี้มียอดขายที่ตกลงทำให้อุตสาหกรรมขนาดกลางถูกกระทบ
นี่คือสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยชะลอตัวในเวลานี้
แต่อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือปัญหาระยะยาว โดยจะเห็นได้จากยอดของการส่งออกจากเดิมที่เคยเติบโตสูงมาก แต่นับจากปี 2555 เป็นต้นมา เริ่มเหลือ 2% ส่วนปี 2556 เริ่มที่จะติดลบ และปี 2557 ติดลบ ขณะที่ปี 2558 ก็คงจะติดลบเหลือเท่ากับ 0% นี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ
การส่งออกที่ชะลอตัวจนติดลบดังกล่าว “หม่อมอุ๋ย” ยืนยันว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาการเมืองอย่างที่มีผู้กล่าวโทษกัน เพราะหากย้อนไปในปี 2553 ที่มีการประท้วงอย่างหนัก การส่งออกก็ยังเติบโตได้ดี แต่ระยะหลังที่มีการปรับตัวลดลงจนกลายเป็นโรคเรื้อรังเริ่มมาจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน รวมถึงลักษณะสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากเวลานี้ไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ ทำให้ยอดส่งออกที่เคยเติบโตปีละ 15-20% ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกโดยการติดลบของส่งออกอาจจะเห็นอีก 2 ปี
ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว รัฐบาลกำลังแก้ไขโดยจะปรับประเภทอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมบีโอไอใหม่ทั้งหมด และยกระดับการใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่คู่แข่งไม่สามารถทำได้ เชื่อว่าใน 2-3 ปี หลังจากนี้ไทยจะมีฐานสินค้าใหม่อีกไม่น้อยที่จะทำให้การส่งออกกลับมาโตเร็วได้อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะสามารถช่วยเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งที่ “หม่อมอุ๋ย” คาดหวังก็คือการใช้จ่ายของภาครัฐโดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 (ตุลาคม-ธันวาคม 2557 ) สามารถเบิกจ่ายได้ 29.8% มากกว่า 1 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมด และการเบิกจ่ายในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2558 ( มกราคม-มีนาคม 2558 ) ทำให้รวมกัน 6 เดือนเบิกจ่ายไปได้ 51% ถือว่าดีขึ้น
แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการใช้จ่ายภาครัฐดังกล่าวอาจจะไม่เป็นไปดังคาดหวัง โดยเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นมาตรการเดิมๆ ที่ไม่ได้ผล
นายอภิสิทธิ์ ตอกย้ำว่าการยอมรับเศรษฐกิจมีปัญหาของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นเรื่องที่ตนเองได้สะท้อนมาตลอดว่ามีปัญหาจริงๆ และมองไม่เห็นว่าการที่จะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นจะมาจากทางไหน เท่าที่คุยกับคนทำธุรกิจก็ยืนยันว่าปัญหาหนักกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสมัยที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีปัญหากำลังซื้อคนในประเทศหายไป เพราะการบริหารของรัฐบาลในการวางนโยบายหลายอย่างไม่สอดคล้องกัน เช่น นโยบายพลังงาน หรือการส่งสัญญาณเรื่องภาษีที่ทำให้ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของประชาชนหายไป
“ตอนนี้ควรทบทวนว่าที่ผ่านมาท่าทีของรัฐบาลมีส่วนทำให้เกิดปัญหาแค่ไหนและจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมสังเกตว่าแนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจมักคิดในกรอบเดิมๆ ซึ่งในยุคปัจจุบันได้ผลน้อยมาก เช่น คิดว่าจะใช้งบประมาณภาครัฐเข้าไปกระตุ้นด้วยการทำโครงการ ทั้งที่เงินเหล่านั้นออกช้าและหมุนเวียนอยู่ในคนไม่กี่คน”
ประเด็นที่นายอภิสิทธิ์ แนะนำ “หม่อมอุ๋ย” ก็คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการที่เกิดความหมุนเวียนของเงินเร็วขึ้น เช่น เรื่องการท่องเที่ยว ก็ทำให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการจ้างคนในชุมชนจะทำให้มีการกระจายรายได้และมีกำลังซื้อกลับไปที่ประชาชนทันที และได้รายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยวด้วย แตกต่างจากการทำโครงสร้างพื้นฐานที่ผู้รับเหมาได้ประโยชน์อยู่เพียงกลุ่มเดียว
เสียงวิจารณ์นโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนายอภิสิทธิ์ ทำเอาภาคเอกชนสะดุ้งเฮือก ก่อนจะตั้งสติแล้วออกมาตอบโต้กลับซึ่งอาจได้ผลในเชิงจิตวิทยา โดยนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สวนกลับว่าปัญหาเศรษฐกิจของไทยขณะนี้ยังไม่หนักไปกว่าตอนช่วงที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่อย่างใด
นอกจากนั้น เวลานี้รัฐบาลกำลังเร่งให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ และเพิ่มการท่องเที่ยว ซึ่งจะมาทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัวลงได้ และงบกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 4.4 แสนล้านบาท ก็จะเกิดการลงทุน การจ้างงาน เม็ดเงินจะกระจายไปอยู่ในภาคประชาชน เกิดกำลังซื้อภายในประเทศ ต้องให้โอกาสรัฐบาล โดยคาดว่าไตรมาส 3 และ 4 เศรษฐกิจจะดีขึ้นตามลำดับ
นั่นเป็นความเชื่อของภาคเอกชน แต่ความจริงก็ย่อมเป็นความจริงวันยังค่ำ
ทั้งนี้ ตามตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ก็ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มป่วยมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ปี 2549 อัตราการขยายตัวปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และภัยธรรมชาติ ซึ่งทำให้การลงทุนก็ปรับตัวลงตามไปด้วย
แบงก์ชาติ ส่งสัญญาณให้จับตาเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 โดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 และ 3 จะเป็นช่วงไฮซีซันของการส่งออก โดยมูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 19,200 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกปีนี้จึงจะโตได้ร้อยละ 0.8 แต่หากมูลค่าการส่งออกไทยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกปีนี้จะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อย่างแน่นอน ซึ่งหากการส่งออกติดลบและเศรษฐกิจไตรมาส 2 ไม่ฟื้นตัว อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพี ก็มีโอกาสที่จะโตต่ำกว่าร้อยละ 3.8 โดยในปลายเดือนมิ.ย.นี้ ธปท.จะมีการปรับประมาณการจีดีพีใหม่อีกครั้ง
ตอกย้ำข่าวร้ายจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับ ประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลงมาเหลือเติบโต 3.2% จากเดิม (ช่วงพ.ย.-ธ.ค.57) คาดว่าจะเติบโต 4% และมองว่ายังโอกาสที่จะเติบโตต่ำกว่า 3% เนื่องจากมีปัจจัยลบจากหลากหลายประเด็นที่ยังกดดันอยู่ ขณะที่คาดว่าภาคการส่งออกจะขยายตัวได้พียง 0.4% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 4.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.5% จากเดิมคาด 2.3%
“โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม”
ตัวเลขเศรษฐกิจข้างต้น นับเป็นข่าวร้ายรับการแถลงผลงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในรอบ 6 เดือน ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558 ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่มีผลงานชิ้นโบว์แดงมาอวดโอ่
อย่างไรก็ตาม ในวันสุกดิบก่อนวันแถลงผลงาน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งหัวโต๊ะ ก็ช่วยกันปั้นตัวเลขให้ออกมาดูดีที่สุด
แล้วก็เป็นไปตามคาด ภายหลังการประชุม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.กระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ นายอำพล กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และร.อ.นพ.ยงยุทธ มัลลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ร่วมกันแถลงผลการประชุม
นายอาคม อวดตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกว่า ฟื้นตัวดีขึ้นจากการอัดฉีดเงินในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนทางหลวง 6 หมื่นล้าน ถนนสายรองในชนบท 4 หมื่นล้าน การลงทุนภาคเอกชนที่ขอรับส่งเสริมบีโอไอดีขึ้น การบริโภคเป็นบวก 1-2% การท่องเที่ยวดีขึ้น โดยช่วง 1 ม.ค.-15 เม.ย. เพิ่มขึ้นแล้ว 26%
"สำหรับตัวเลขการส่งออกเชื่อมั่นว่าใน 2 เดือนแรกติดลบเพียง -4% แต่ถ้าหากหักตัวเลขการส่งออกทองคำออกไปการส่งออกของไทยในสองเดือนแรกติดลบเพียง -3% เท่านั้น ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง..."
นายอาคม ยังโปรยยาหอมว่า ภาคการส่งออกถือว่าสร้างรายได้คิดเป็น 70% ของรายได้เข้าประเทศ แม้ว่าวันนี้การส่งออกจะอ่อนตัวลงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา แต่พบว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นแม้ว่าตลาดส่งออกจีนและยุโรปจะชะลอตัว และรายได้ได้ถูกชดเชยจากการท่องเที่ยว ดังนั้นโดยรวมจึงคาดว่า ตัวเลขรายได้มวลรวมของประเทศ (GDP) ทั้งปี 2558 จะมีการขยายตัวประมาณ 3%
เศรษฐกิจยังไม่วิกฤต ไม่ได้ย่ำแย่ และมาตรการกระตุ้น มาถูกทางแล้ว เป็นคำปลอบ ประโลมกลบเกลื่อนความจริงกันไปวันๆ