โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
สวัสดีครับ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้เขียนเกี่ยวกับความน่าสนใจของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งในปีนี้จะเป็นปีเริ่มแรกที่รวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบไปด้วย 10 ประเทศครับ
โดยหลักๆ การรวมกลุ่มเป็น AEC จะเป็นการผนึกความแข็งแกร่งเข้าด้วยกันทั้งในเรื่องการค้าการลงทุน ฐานการผลิต ทำให้ต้นทุนการดำเนินการต่ำลงและเพิ่มประโยชน์ในด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเพิ่มจำนวนประชากรในกลุ่มภูมิภาคให้ขยายตัวมาถึงจำนวนประมาณ 538 ล้านคน คิดเป็น 9% ของประชากร และมีจำนวนประชากรใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ทำให้การบริโภคภายในกลุ่มมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ขณะที่ความน่าสนใจของปัจจัยพื้นฐานทางการเงิน การเมืองและความมั่นคง รวมทั้งความแตกต่างของคุณลักษณะที่โดดเด่นของแต่ละประเทศจะยิ่งสามารถสร้างให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นที่น่าดึงดูดของนักลงทุนได้เพิ่มเติม ซึ่งผมจะเล่าถึงมุมมองของแต่ละประเทศดังนี้ครับ
ในส่วนของสิงคโปร์ ผมมองว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้ตาม และจะส่งผลดีต่อประเทศในระยะกลางถึงระยะยาว นอกจากนี้ แรงสนับสนุนอีกหนึ่งนโยบาย ได้แก่ การดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นผ่านการปรับลดค่าเงิน Policy Band เพื่อสนับสนุนการส่งออกของประเทศและให้สามารถแข่งขันทางด้านราคากับประเทศอื่นๆ ได้ รวมทั้งผลักดันให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตาม และทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น แม้ว่าในระยะสั้นอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและทำให้เศรษฐกิจอาจชะลอลงบ้างเล็กน้อยก็ตาม
เศรษฐกิจมาเลเซีย ในระยะสั้นผมมองว่าอาจชะลอลงเล็กน้อยจากผลกระทบของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง และการใช้จ่ายภายในประเทศที่อาจลดลงหลังรัฐบาลจะมีการปรับขึ้นภาษี VAT เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ภาครัฐ ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเองก็ยังคงมีการชะลอตัวหลังเศรษฐกิจชะลอลง แต่อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียในระยะกลางถึงยาวก็ยังมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังค่าเงินมาเลเซียริงกิตอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจมาเลเซียอาจจะชะลอลงในระยะสั้น แต่ในส่วนของตลาดหุ้นนั้นผมมองว่าด้วยเม็ดเงินลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะจากนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนประเภทสถาบันการเงินจะเป็นปัจจัยหลักที่ยังสนับสนุนตลาดต่อไปได้
เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเร่งสูงขึ้น โดยหลักๆ มาจากการสนับสนุนการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในส่วนของงบภาครัฐและการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) รวมทั้งการเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายก่อนเลือกตั้งเดือน พ.ค. 2559 และการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี ทำให้มองว่าด้วยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับสูงและระดับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์มีความโดดเด่นค่อนข้างมาก และช่วยขับเคลื่อนตลาดหุ้นอาเซียนและเอเชียในช่วงถัดไป
เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มปรับตัวได้ดีขึ้นมากหลังรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานและค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับภาครัฐที่มีเจตนารมณ์อย่างแท้จริงในการปฏิรูปคอร์รัปชัน ทำให้มองว่าการลงทุนของภาครัฐและเอกชนจะกลับมาได้รับการตอบรับจากนักลงทุนทั้งใน และต่างชาติได้เป็นอย่างดี
เศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีโอกาสฟื้นตัวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจากการส่งออกและท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในลักษณะช้าๆ จากอานิสงส์ของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง หลัง กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน รวมทั้งฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ยังต้องอาศัยมาตรการภาครัฐในการขับเคลื่อน ซึ่งหากทางการมีการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว คาดว่าการใช้จ่ายภายในประเทศจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้
เศรษฐกิจเวียดนาม มีโอกาสเติบโตได้ดีจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนที่อาจเร่งขึ้นเพิ่มเติมหลังทางการมีแนวโน้มการปรับลดภาษีผู้บริโภคและผู้ประกอบการ รวมทั้งการผลักดันให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าได้มากขึ้น โดยการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้อำนวยความสะดวกในการก่อตั้งการจัดตั้งบริษัทธุรกิจและอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถจัดตั้งบริษัทจดทะเบียนเป็นเจ้าของได้ 100% ประกอบกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหลังจากอัตราเงินเฟ้อผ่อนคลายเพื่อให้เกิดเสถียรภาพการเงินมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ และเพื่อขยายโอกาสการค้าการลงทุนในอนาคต
จากจุดเด่นและแนวโน้มเศรษฐกิจดังกล่าวจะมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตจากความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของกลุ่มที่มากขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศให้มีความเท่าเทียมกัน และการนำไปสู่การรวมกลุ่มที่แข็งแกร่งในระดับเวทีโลก ทำให้ผมมองว่าการลงทุนในหุ้นกลุ่มอาเซียนมีความน่าสนใจ ซึ่งปัจจุบันการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศสามารถลงทุนได้ 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การนำเงินไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตนเองผ่านการเปิดบัญชีซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ และการนำเงินไปลงทุนผ่านกองทุนรวม
ปัจจุบันทาง บลจ.วรรณเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญและน่าสนใจของการลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียน และล่าสุดทาง บลจ.วรรณก็ได้มีการร่วมมือกับบริษัท Stoxx Limited ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำด้านนวัตกรรม การซื้อขายหลักทรัพย์และจัดทำ Index ที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ซึ่งจัดตั้งตั้งแต่ปี 1998 และเป็นบริษัทที่มี licenses มากกว่า 500 บริษัททั่วโลก เช่น EURO STOXX 50 Index ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกสร้างดัชนี The Stoxx ASEAN Select Dividend 30 Index ขึ้นมาเพื่อให้กองทุนฯ เรานำเงินไปลงทุนในลักษณะ Index Fund ซึ่งปัจจุบันกำลังขออนุมัติจัดตั้งกับทางสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งหากเรียบร้อยแล้วผมจะมาเรียนเสนอต่อนักลงทุนในโอกาสถัดไปครับ
•หากนักลงทุนสนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1
•ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน