หุ้นปิดลบ 2.73 จุด เจอแรงขาย “พลังงาน-รับเหมาฯ” กดดันดัชนี โบรกฯ ชี้ ตลาดรอความชัดเจนผลประชุมเฟด พรุ่งนี้ แนะจับตาโบรกเกอร์แต่ละค่ายปรับเป้าดัชนีฯ “วรรณ” แนะช่วงปรับฐานเป็นจังหวะซื้อ พร้อมคาด SET Index มีโอกาสแตะ 1,700 จุด ภายในครึ่งแรกปี 58
ภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ (17 มี.ค.) ดัชนีปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,512.84 จุด ลดลง 2.73 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -0.18% มูลค่าการซื้อขาย 43,761 ล้านบาท โดยภาพรวมในวันนี้ ดัชนีเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวกและแดนลบ
นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ดัชนีปรับตัวขึ้นได้ในช่วงเช้าตามตลาดหุ้นทั่วโลก ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่ทรงตัว ถึง underperform เมื่อเทียบกับภูมิภาค
ทั้งนี้ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังรอดูการทบทวนเป้าหมายดัชนีของบรรดาโบรกเกอร์ต่างๆ หลังจากที่คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการปรับจีดีพีในปีนี้ ซึ่งทำให้โบรกเกอร์ต่างๆ อาจจะปรับลดอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) ของบริษัทจดทะเบียนด้วย
โดยเบื้องต้นมองว่าค่าเฉลี่ยเป้าหมายใหม่ของดัชนีในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1,600 ต้นๆ หรือ 1,620 จุด จากเดิมที่อยู่ระดับประมาณ 1,680 จุด ซึ่งคาดว่าการปรับเป้าหมายดัชนีดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังต้องระวังแรงขายของกองทุนในประเทศด้วย เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กองทุนในประเทศซื้อหุ้นไทยไปค่อนข้างมากราว 1.8 แสนล้านบาท และในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ยังซื้อต่อเนื่องอีกราว 6 พันล้านบาท ซึ่งทำให้ยังมีโอกาสที่จะขายออกมาได้อีก โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มรับเหมาฯ ที่กองทุนถือไว้ค่อนข้างมาก ขณะที่เดิมมีการคาดหวังว่าต่างชาติจะกลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย แต่เมื่อ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้โอกาสที่ต่างชาติจะซื้อสุทธิไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม วันนี้ตลาดยังคงมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มสื่อสาร เนื่องจากมีความคาดหวังต่อการเปิดประมูล 4G เนื่องจากในวันพรุ่งนี้ (18 มี.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะมีการพิจารณาเรื่อง 4G ด้วย
ส่วนแนวโน้มการซื้อขายวันพรุ่งนี้ (18 มี.ค.) คาดว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวไซด์เวย์ เพื่อรอดูผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยมองแนวรับบริเวณ 1,500 จุด และแนวต้านที่ 1,530 จุด
ด้านนายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ ออกมาระบุว่า การปรับฐานลดลงของหุ้นไทยในช่วงนี้ที่ต่ำกว่าระดับ 1,540 จุด จะเป็นระดับที่น่าสนใจที่ทยอยเข้าลงทุนในหุ้นได้ โดยคาดว่าดัชนีฯ น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,500-1,730 จุด และมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบที่ระดับ 1,700 จุดได้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยดัชนี SET ยังมีโอกาสไปต่อได้จากหลายปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้นหลัง กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง ที่ 0.25% มาที่ 1.75% จากเดิม 2.00% โดยมีผลทันที ทำให้น่าจะมีเม็ดเงินจากนักลงทุนบางส่วนไหลกลับเข้ามาในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นมากขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความน่าสนใจในช่วงเวลานี้ แต่อาจมีความผันผวนระหว่างทางบ้าง ทำให้มองว่าช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีสำหรับนักลงทุนที่จะเข้าซื้อกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้น อย่างเช่น 1AMSET50 และกองทุนรวมประเภทลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) / กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อเก็บหุ้นในช่วงจังหวะตลาดปรับลดลงช่วงนี้
“แม้หุ้นไทยจะมีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมากกว่า 80 จุดในช่วงที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ประกอบกับแรงสนับสนุนจากภาครัฐล่าสุดที่มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อประคับประคองและเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวครั้งล่าสุดนั้น ก็น่าจะผลักดันให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนมากขึ้น หลังจากที่นักลงทุนบางส่วนเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับภาระค่าครองชีพจากกระแสของการปรับเพิ่มภาษีบางประเภทที่ผ่านมา” นายวิน กล่าว
ปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญและนักลงทุนจับตากันมาก คือ การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันยังมีการเบิกจ่ายที่ล่าช้ากว่าคาด แต่หากภาครัฐสามารถเร่งเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็วก็จะเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีขึ้นและสามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมาได้ ขณะเดียวกัน อานิสงส์ของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงหลัง กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็น่าจะทำให้การส่งออกไทยน่าจะทยอยฟื้นตัวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนหน้า จากความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าของไทย รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่น่าจะได้ประโยชน์และเป็นสองกลุ่มหลักที่คาดว่าจะช่วยเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้ฟื้นตัวได้ ก็แต่ก็คาดว่าจีดีพีไทยปีนี้น่าจะมีโอกาสปรับลดลงจากเดิมที่คาดการณ์อยู่ที่ 4% แต่ก็คาดว่าอย่างต่ำไม่น่าจะต่ำกว่า 2% โดยประมาณ ซึ่งเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงไรก็ต้องอาศัยการผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้มีความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย
ด้านการลงทุนในตลาดหุ้นไทย Sentiment ช่วงสั้น มองว่าในช่วงนี้ต้องติดตามการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค. 58 ซึ่งตลาดมองว่า FED อาจมีการถอดถอนคำว่า “Patient” ออกจากถ้อยแถลงได้ ซึ่งหากเป็นอย่างจริง คาดว่าโอกาสที่สหรัฐอเมริกาจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปีจะมีมากขึ้น และส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนในช่วงกล่าวได้ ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทาง กนง.ครั้งล่าสุดในวันที่ 11 มี.ค. 58 ก็สะท้อนว่าภาครัฐให้ความสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยและผลักดันให้ Sentiment ตลาดหุ้นไทยเป็นบวกมากขึ้น ประกอบกับโครงการภาครัฐต่างๆ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ถ้าทำได้และเร่งผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการการประมูล (Bidding) ต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งการเริ่มเข้าสู่ช่วงการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนหลังประกาศผลประกอบการบริษัทไปเรียบร้อยแล้ว ก็น่าจะทำให้ความน่าสนใจของหุ้นไทยเริ่มดีขึ้นได้
การปรับลดของดัชนีฯ ที่ผ่านมากว่า 80 จุด ทำให้มูลค่าหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมาก และปรับตัวลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มภูมิภาค รวมทั้งกลุ่ม TIP Region ขณะที่ประกอบกับสภาพคล่องจากการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางยุโรป และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารจีนยังมีต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าจะผลักดันให้ยังมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้อยู่ แต่จะเข้ามาลงทุนรวดเร็ว มากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องพึ่งพิงการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนของภาครัฐ เป็นองค์ประกอบด้วย