xs
xsm
sm
md
lg

คาดหุ้นไทย Q2/58 ผันผวน ตลาดการเงินและลงทุนของโลกมีสภาพคล่องในปริมาณมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล” ชี้หุ้นไทย Q2/58 ผันผวน ขณะที่ ศก.โลกจะดีแบบค่อยเป็นค่อยไปจากปัจจัยเชิงบวกของมาตรการ QE ทั้งยุโรป และญี่ปุ่น และยังไม่รวมถึงประเทศจีนที่มีมาตรการ Mini QE เข้ามาสนับสนุน ทำให้ตลาดการเงินและลงทุนมีสภาพคล่องในปริมาณมาก ขณะที่ ศก.ไทยยังฟื้นตัวช้า ประเมินเฟดปรับเพิ่มขึ้น ดบ.ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นอย่างเร็ว

นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า การลงทุนในช่วงไตรมาส 2/58 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มทิศทางที่ดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจากปัจจัยเชิงบวกของมาตรการเชิงผ่อนคลาย (QE) ของภูมิภาคยุโรป และญี่ปุ่น และยังไม่รวมถึงประเทศจีน ที่มีมาตรการ Mini QE เข้ามาสนับสนุน ทำให้ตลาดการเงินและลงทุนมีสภาพคล่องในปริมาณมาก แต่ยังต้องติดตามการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ด้วย ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/58 ยังฟื้นตัวช้า

นายจุมพล กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้น ได้แก่ การพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเป็นอย่างเร็ว และหากตลาดการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นทำให้เงินเฟ้อขยับเข้าสู่เป้าหมายระยะยาวที่ 2% และหากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ มีโอกาสอย่างมากที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ระดับปกติอย่างระมัดระวัง ซึ่งจะส่งผลทำให้มีความผันผวนในตลาดเงิน และตลาดหุ้นมากยิ่งขึ้น

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ยังอยู่ในภาวการณ์ฟื้นตัวช้าๆ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือ 3.8% จาก 4.0% และได้ปรับลดอัตราเงินเฟ้อเหลือ 0.2% จากเดิม 1.2% เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และพืชผลทางการเกษตรได้ปรับลดลงมาอย่างมาก

รวมถึงความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า มีผลทำให้มูลค่าการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐมีความล่าช้า ภาคเอกชนมีความระมัดระวังในการลงทุน และสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความอ่อนแอ จึงคาดว่า กนง.มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากเดิม 1.75% ในปีนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ภาวะโดยรวมของตลาดหุ้นไทยยังมีทิศทางที่ดีจากปัจจัยสนับสนุนด้านมาตรการ QE ทั้งจากยุโรป และญี่ปุ่น แต่ก็มีการคาดหมายมีโอกาสที่กำไรสุทธิของตลาดหุ้นไทยในปีนี้อาจถูกปรับลดประมาณการลง หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยออกมาไม่ดีมากนัก แต่ยังเชื่อว่าอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ/หุ้น (EPS growth) ของตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ โดยการปรับตัวขึ้นของ EPS growth ในปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากการปรับลดลงของ EPS ตลาดหุ้นไทยในปี 57 จากการถูกกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงปลายปี 57

นายจุมพล กล่าวเพิ่มว่า กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้นักลงทุนต้องพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนที่เน้นการจัดพอร์ตสมดุลแบบ Balanced Fund หรือการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์เหมาะสม Multi-Asset Strategy ในแต่ละขณะการลงทุน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนสามารถที่จะเลือกลงทุนในบางกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่น เช่น กลุ่มประเทศที่อยู่ในธีมปฏิรูปเชิงนโยบาย (Reform) เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย รวมถึงอานิสงส์จากสภาพคล่องของเงินลงทุนจากมาตรการ QE ของทั้งยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งภูมิภาคที่ได้รับประโยชน์ได้อย่างเต็มที่คือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
กำลังโหลดความคิดเห็น