xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกรัฐบาลระบุลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.5% ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ (แฟ้มภาพ)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแจงข้อดีลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50% ต่อปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีที่ภาคเอกชนได้เรียกร้องให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้ และผู้สื่อข่าวสอบถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าต้องดูภาพรวมระยะยาวและสถานการณ์โลกประกอบกันนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งจากที่เคยมีมติไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

ทั้งนี้ ผลดีต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของภารธุรกิจและภาคครัวเรือนลดลง อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดต่ำลงจะถูกส่งผ่านไปยังต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน จากการที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) ทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีเงินเหลือสำหรับการลงทุนหรือบริโภคเพิ่มเติม นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงก็จะดึงดูดให้ภารธุรกิจเริ่มโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม เนื่องจากสามารถระดมทุนได้ในอัตราเบี้ยที่ถูกลงด้วย

ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลง ซึ่งถึงแม้ว่าจะดูไม่เป็นผลเสียต่อผู้ฝากเงินที่จะได้รายได้ดอกเบี้ยน้อยลง แต่นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเมื่อผลตอบแทนของเงินฝากลดต่ำลง ก็จะทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนนำเงินออมไปใช้จ่ายและลงทุนมากขึ้น อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วย เนื่องจากทำให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนในตลาดการเงินไทยในภาพรวมลดต่ำลงเมื่อเทียบกับตลาดการเงินในประเทศอื่นๆ ที่ยังมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งจะทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศน้อยลง และเมื่อเงินทุนไหลเข้าประเทศน้อยลงก็จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วย ซึ่งค่าเงินบาทที่อ่อนลงมีผลดีคือ ช่วยกระตุ้นการส่งออก เนื่องจากสินค้าชิ้นเดิมที่เราตั้งราคาเป็นบาทจะถูกลง เมื่อแปลงราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ (หรือสกุลเงินอื่นๆ) หรือหากตั้งราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ ผู้ส่งออกก็จะได้กำไรเป็นบาทมากขึ้น และมีเงินกลับเข้ามาหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ เช่น ตลาดอาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น