เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังเผชิญหลากปัจจัยไม่แน่นอน “ส่งออก-เบิกจ่ายงบฯ” ขณะที่ “ภัยแล้ง” เข้ามาซ้ำเติม เวิลด์แบงก์แนะรัฐเร่งหามาตรการช่วยก่อนลามไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ และปัญหาด้านสังคม พร้อมดูแลการจัดการทรัพยากรน้ำ และแก้ปัญหาโครงสร้างด้านการส่งออก
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2558 ว่า น่าจะมีการเติบโตได้สูงกว่าครึ่งปีแรก แต่ก็ยังเป็นการโตอย่างช้าๆ โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเบิกจ่ายของรัฐที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่การส่งออกนั้นยังคงไม่ดีนักน่าทรงตัว หรือขยายตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเวิลด์แบงก์ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตที่ 3-3.5% ส่งออก 0-0.5%
“ส่งออกยังเป็นปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจไทยอยู่ หากส่งออกโตได้ 0.5% เศรษฐกิจไทยก็น่าขึ้นไปได้ถึง 3.5% ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อย ในช่วงครึ่งปีหลังก็คงจะขยายได้บ้างจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นขึ้น แต่คงยังไม่พอชดเชยส่วนที่ติดลบไป”
ขณะที่เรื่องของภัยแล้งเข้ามาเป็นปัจจัยกดดันเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลต่อกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำอยู่แล้ว และจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงอาจกลายเป็นปัญหาทางสังคมต่อไปอีกด้วย ดังนั้น ทางการควรหามาตรการในการช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนส่วนนี้เพื่อให้มีความสามารถในการทำอาชีพต่อไป เช่น ให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องเพื่อซื้อวัสดุ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเพาะปลูกในฤดูกาลหน้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือต่างๆ เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น สิ่งที่จะต้องทำเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมถึงการแก้ปัญหาด้านการส่งออกซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ในระยะปานกลาง เนื่องจากผู้ส่งออกไทยขาดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังจะเห็นจากข้อมูลว่า ความสามารถด้านการส่งออกไทยเริ่มตกมาตั้งแต่ 4 ปีก่อนแล้ว
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง ยังคงมีความท้าทายในหลายๆ ด้าน แม้ว่าจะมองว่าปัจจัยหลายๆ ด้านมีสัญญาณจะดีขึ้น เช่น การเบิกจ่ายภาครัฐที่น่าเพิ่มขึ้นได้ ภาคการเมืองที่มองเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นจากการแก้กฎหมายหลายๆ ฉบับ และจะนำพาไปสู่การเลือกตั้ง และการท่องเที่ยวที่ยังดีอยู่ ขณะที่ปัจจัยลบยังเป็นการส่งออกที่ไม่ฟื้นตัว และปัญหาภัยแล้งที่เข้ามา ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้คงทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปอยู่
“เรายังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 2.8% แต่กรอบล่างอยู่ในระดับ 2.2% ซึ่งเผื่อไว้กรณีเลวร้าย การเบิกจ่ายไม่ออก ท่องเที่ยวไม่มา ก็อาจถึงจุดนั้นได้เหมือนกัน”
สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น ธนาคารประเมินว่า ยังน่าจะคงไว้ในระดับนี้คือ 1.50% ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว แต่หากมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบเข้ามาก็อาจทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงได้อีก เช่น กรณีเงินบาทหากยังอยู่เหนือกว่า 34 บาท ซึ่งเอื้อต่อการส่งออกความจำเป็นในการลดอัตราดอกเบี้ยก็ไม่น่าจะมี แต่หากแข็งค่าขึ้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 34 บาท ก็อาจเป็นประเด็นที่นำมาพิจารณาให้ปรับลดดอกเบี้ยอีกได้ เพราะในการปรับลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด ทาง กนง.หวังผลในการช่วยหนุนส่งออกเป็นหลัก โดยธนาคารคาดการณ์ค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ