xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง กนง. มีมติคง ดบ. เพื่อดูแลเสถียรภาพ ศก. สอดรับเครื่องมือทางการคลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิเคราะห์ ศก. ทีเอ็มบี คาดที่ประชุม กนง. จะมีมติคงอัตรา ดบ. ที่ระดับ 1.50% ในการประชุม 16 ก.ย.นี้ เนื่องจากมาตรการกระตุ้น ศก. ของรัฐบาลมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยกดดันให้มีการลด ดบ. ทั้งเรื่องเงินบาทที่อ่อนค่า และความผันผวนเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ หากเฟดปรับขึ้น ดบ. ด้านศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้น ศก. จะเป็นแรงผลักดันหลัก สำหรับการฟื้นตัวของ ศก. ช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม อาจจะเผชิญกับข้อจำกัดมากขึ้น ดังนั้น การคงอัตรา ดบ. ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะดูแลเสถียรภาพ ศก. ระหว่างประเทศ ซึ่งอาจผันผวนจากการเปลี่ยนนโยบายการเงินของสหรัฐฯ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งก่อน จนถึงการประชุมรอบถัดไปวันที่ 16 กันยายน 2558 นี้ โดยมีหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง เช่น เหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีนัยต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย และการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ จนนำมาสู่แพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จากการประเมินยังคงให้น้ำหนักปัจจัยสนับสนุนให้คงอัตราดอกเบี้ยมากกว่าปัจจัยที่กดดันให้มีการลดดอกเบี้ย ดังนั้น จึงมองว่า กนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 อีกครั้ง

สำหรับปัจจัยสนับสนุนให้มีการคงดอกเบี้ยมี 3 ประเด็น ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในสหรัฐฯ

โดยปัจจัยที่น่าจะมีน้ำหนักมากที่สุดสำหรับการประชุม กนง.รอบนี้คงหนีไม่พ้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน การสร้างงานในระดับตำบล การเร่งรัดการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นวงเงินสูงกว่า 136,000 ล้านบาท และจากการประเมินเม็ดเงินดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นจีดีพีปี 2558 ได้ถึงร้อยละ 0.3

นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกมาตรการช่วยเหลือ และเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กคิดเป็นวงเงินอีกกว่า 260,000 ล้านบาท โดยมาตรการนี้นับเป็นปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนประเด็นถัดมา ได้แก่ การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาท ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย Fed funds rate ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทนับว่าอ่อนค่าลงค่อนข้างเร็ว โดยปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงอีกกว่าร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับค่าเงินในช่วงการประชุมครั้งที่แล้ว และหากเทียบกับช่วงต้นปีค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปถึงร้อยละ 10

ในทางกลับกัน ปัจจัยที่สนับสนุนการลดดอกเบี้ยมีอยู่ 4 ปัจจัย ได้แก่ ความผันผวนของเศรษฐกิจจีน อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในแดนลบ ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจากกรณีระเบิดราชประสงค์ และภัยแล้ง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนผ่านการส่งออกค่อนข้างสูง จึงมองว่าผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนจะมีน้ำหนักมากที่สุดในบรรดาปัจจัยลบทั้งหมด

ด้านอัตราเงินเฟ้อที่ยังลากยาวอยู่ในแดนลบเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักเป็นอันดับถัดมา แต่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากผลกระทบจากฐานราคาน้ำมันจะค่อยๆ ทยอยหมดไป

นอกจากนี้ เหตุระเบิดที่ราชประสงค์ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบเพียงช่วงสั้นเท่านั้น ก่อนที่สถานการณ์ต่างๆ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน ดังนั้น ประเด็นนี้จึงอาจมีน้ำหนักไม่มากเช่นเดียวกับสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันที่นับว่าคลี่คลายลงจากการประชุม กนง. ในครั้งก่อน

ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพลิกฟื้นสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มในช่วงที่เหลือของปีจึงลดลงค่อนข้างมาก ส่งผลให้ปรับมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มถูกตรึงอยู่ที่ร้อยละ 1.50 สิ้นปี

ขณะที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า กนง.น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 16 กันยายน 2558 นี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจคงจะเป็นแรงผลักดันหลักสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม อาจจะเผชิญกับข้อจำกัดมากขึ้น สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ เส้นทางในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งคงมีผลต่อความผันผวนของกระแสเงินทุนในตลาดเกิดใหม่มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น