xs
xsm
sm
md
lg

มติกนง.คงดอกเบี้ย จ่อปรับจีดีพีหลุด3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – บอร์ด กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 1.5%ต่อปี เล็งลดเป้าประมาณการเศรษฐกิจไทยต่ำว่า 3% มองผลกระทบด้านต่างประเทศมากกว่ารัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยอมรับในที่ประชุมมีความกังวลปัญหาเอ็นพีแอลรายย่อย ชี้การดำเนินนโยบายการเงินต้องพิจารณาทั้งเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงินควบคู่กันไปไม่ใช่พิจารณาเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมกนง.เมื่อวานนี้ (16ก.ย.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50%ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบจากต่างประเทศ รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่อาจสูงขึ้น และปัจจุบันภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้เตรียมจะปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยต่ำกว่า 3% ซึ่งประกาศอย่างเป็นทางการรายงานนโยบายการเงินในวันที่ 25 ก.ย.นี้
"ขณะนี้นโยบายการเงินช่วยการฟื้นตัวเศรษฐกิจอยู่แล้ว ซึ่งระดับดอกเบี้ยนโยบายผ่อนคลาย ขณะที่รัฐออกมาตรการใหม่มาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ปัจจัยต่างประเทศมีผลแรงกว่า โดยเฉพาะการชะลอตัวเศรษฐกิจจีนที่มีผลต่ออาเซียน ถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมาก จึงมีผลให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จะต่ำกว่า 3% ลดลงกว่าประเมินไว้เดิมที่ 3%"
การประชุมบอร์ด กนง.ครั้งนี้มีความเป็นห่วงปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะรายย่อย ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นหลัก แต่ยังไม่ใช่นโยบายการเงินเข้ามาดูแล เพราะมองว่าความกังวลปัญหาเพิ่มขึ้นไม่มากและไม่กลัวลุกลาม ฉะนั้น ปัญหาเอ็นพีแอลกำลังอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์อยู่ อย่างไรก็ตาม แม้รัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมา แต่มองว่าไม่ได้เร่งหนี้ครัวเรือนในระบบเพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ยังเข้มงวดในระดับหนึ่งและรัฐมีเงื่อนไขชัดเจนให้กู้ไปลงทุน จึงไม่น่าจะมีผลเสียระยะยาว
ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดไว้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 58 และคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 59 ซึ่งช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ แต่ไม่ใช่ว่าจะบ่งบอกว่าแรงกดดันเงินเฟ้อไม่มีจะส่งผลให้นโยบายการเงินผ่อนคลายไปถึงไตรมาสแรกของปีหน้า เพราะการดำเนินนโยบายการเงินจะต้องพิจารณาทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงินควบคู่กันไป
ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าเป็นผลจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวเศรษฐกิจจีนและการแข็งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ธปท.พยายามให้ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางเดียวกับตลาดการเงินใหม่ ส่วนการอ่อนค่าเงินบาทไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้าลงทุน เพราะปัจจัยกำหนดการลงทุนมาจากปัจจัยอื่นมากกว่า อาทิ ผลตอบแทนเกิดจากการลงทุน บางอุตสาหกรรมกำลังการผลิตยังเหลืออยู่ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลมากกว่าค่าเงิน
การอ่อนค่าเงินบาทระดับปัจจุบันมองว่าจะช่วยการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยได้ และหากในอนาคตตลาดมีความผันผวนมากขึ้น ธปท.จะเข้าไปดูแลบ้าง และการประชุมรอบนี้ได้นำสมมติฐานปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มาร่วมพิจารณาด้วย แต่ไม่ใช่เป็นประเด็นหลัก สุดท้ายไม่ว่าเฟดจะปรับขึ้นหรือไม่ ทางธปท.ก็มีแนวทางการดำเนินการไว้อยู่แล้ว
สำหรับข้อมูลภาวะเศรษฐกิจไทยที่ใช้ประกอบการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 2 และเดือนก.ค.ของปีนี้ขยายตัวอย่างช้าๆ การส่งออกหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวเศรษฐกิจจีนและเอเชีย และรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวสูง และการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลที่เร่งตัวขึ้น รวมทั้งงจะได้รับผลจากมาตรการเศรษฐกิจชชุดใหม่ของภาครัฐด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น