รมว.คลัง ชี้เฟดคงดอกเบี้ยไม่ทำให้เงินไหลออกเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงกว่า เพราะเมื่อเป็นการตามตลาดคาดการณ์จะไม่ส่งผลต่อภาพรวม แต่หากการตัดสินใจผิดไปจากตลาดคาดการณ์จะส่งผลให้ตลาดเงินผันผวน พร้อมเชื่อว่าการคงดอกเบี้ยของเฟดน่าจะมีผลดีต่อทุกประเทศทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น โดยจะเป็นผลดีต่อประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่า หากเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจส่งผลให้ผลตอบแทนของค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้น จะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงดอกเบี้ยเป็นไปตามตลาดคาดการณ์ เนื่องจากการคงอัตราดอกเบี้ยเพราะสหรัฐฯ ต้องประเมินดูเศรษฐกิจในประเทศตนเอง และดูเศรษฐกิจโลก เมื่อเห็นว่าเศรษฐกิจประเทศอื่นยังไม่ดีสหรัฐฯ จึงเลือกคงอัตราดอกเบี้ย และระยะยาวการปรับขึ้นจะเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป
ดังนั้น เมื่อสหรัฐฯ คงดอกเบี้ยจึงไม่ส่งผลต่อเงินทุนในประเทศไหลออกนอกประเทศเพื่อหวังผลตอบแทนอัตราที่สูงขึ้น เมื่อเป็นการตามตลาดคาดการณ์จะไม่ส่งผลต่อภาพรวม แต่หากการตัดสินใจผิดไปจากตลาดคาดการณ์จะส่งผลให้ตลาดเงินผันผวน
“ส่วนใหญ่ตลาดจะมีการคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงนักลงทุนจะไม่ตื่นตกใจ ก็เหมือนการปรับขึ้นดอกเบี้ยองเฟดที่มีการพูดกันมาหลายเดือนแล้ว ตลาดรับรู้และมีการปรับตัวแล้ว จึงไม่น่ามีอะไรกังวล”
รมว.คลัง กล่าวเสริมว่า การที่เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยมองว่าน่าจะมีผลดีต่อทุกประเทศทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น โดยจะเป็นผลดีต่อประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่า หากเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจส่งผลให้ผลตอบแทนของค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้น จะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก
นอกจากนี้ มองว่าการที่เฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เองที่ฟื้นตัวดีขึ้น ไม่ได้มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา แต่อาจจะยังมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวอยู่ โดยเฉพาะจีน ดังนั้น แนวทางการในการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจึงอาจชะลอไปก่อน แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน ซึ่งจะเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป
ด้านนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การตัดสินใจคงดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าวเป็นสิ่งที่นักลงทุนในตลาดการเงินโลกส่วนใหญ่คาดหมายไว้แล้ว
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดการเงินมิได้รุนแรงและเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ กล่าวคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับอ่อนค่าลงบ้างประมาณ 1%เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้นปรับลดลงเล็กน้อยจากการกลับเข้ามาซื้อของนักลงทุน
ส่วนตลาดหุ้น Dow Jones ของสหรัฐฯ ผันผวนบ้าง แม้ในช่วงแรกจะตอบรับเป็นบวก แต่ปิดตลาดปรับลดลง เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น
ส่วนผลต่อตลาดในภูมิภาค ในช่วงเช้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยค่าเงินและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคปรับตัวในลักษณะผสม เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในกรอบ ล่าสุดเงินบาทอยู่ที่ระดับ 35.84 บาท (เวลา 9.00 น.)ปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.3% เทียบกับปิดตลาดวานนี้
ทั้งนี้ แม้ช่วงเวลาที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะล่าช้าออกไปบ้าง แต่ความผันผวนในตลาดการเงินโลกน่าจะคงอยู่ต่อไปจากความเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน
ดังนั้น ธปท. จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ควรจะระมัดระวังและเตรียมความพร้อม เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนได้ทั้ง 2 ทิศทาง โดยอาจพิจารณาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดทอนผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นได้