xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” คุมเข้มทุจริตโครงการลงทุนภาครัฐ เน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” เดินหน้าคุมทุจริตโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ เตรียมทบทวนแผนกู้เงิน 7 แสนล้าน แย้มยังไม่จำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมากเพื่อใช้หนี้ ชี้ กระแสเงินสดขณะนี้อยู่ในกรอบบริหารจัดการได้ เล็งสรุปขาดทุนจำนำข้าวปลายปีนี้ พร้อมเร่งปลูกจิตสำนึกคนในประเทศ ร่วมมือแก้ทุจริตคอร์รัปชัน เตรียมทำสัญญาคุณธรรมดึงประชาชนตรวจสอบการทำงานภาครัฐ เพื่อให้การทำงานโปร่งใส

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “1 ศตวรรษ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน” หัวข้อใครคิดโกงแผ่นดิน เท่ากับสิ้นความเป็นไทย โดยระบุว่า แม้จะออกกฎเกณฑ์คุมเข้มเท่าใด หากคนตั้งใจทุจริตสรรหาแนวทางต่างๆ เพื่อคอร์รัปชัน ก็อาจะเกิดปัญหาได้ แต่หากออกกฎเกณฑ์เข้มงวดมากเกินไป จะทำให้หน่วงานทำงานไม่ได้ เพราะขยับทำอะไรจะเกรงความผิดระเบียบ จึงต้องสมดุลกันระหว่างการตรวจสอบ และคนทำงาน และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างจิตสำนึกตั้งแต่เยาวชนเพื่อไม่ให้คิดคดโกง เมื่อเติบโตเข้ามาทำงานในส่วนต่างๆ ที่สำคัญ

แต่หลังจากรัฐบาลรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง และได้แถลงนโยบาย ดัชนีคอร์รัปชันของไทยในปี 57 ดีขึ้นจากปี 56 จากอันดับ 102 เพิ่มเป็นอันดับ 85 จากทั้งหมด 175 ประเทศ และเพิ่มจากอันดับ 16 ขยับเป็นอันดับ 12 ในอาเซียน ขณะที่กระทรวงการคลังมุ่งเน้นการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยการใช้ระบบลงนามข้อตกลงคุณธรรมในทุกโครงการลงทุนของภาครัฐ ด้วยการเปิดให้เอกชน และส่วนต่างๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการติดตามความคืบหน้าการลงทุน

สำหรับความคืบหน้าการประเมินความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ เกี่ยวกับภาระหนี้สินจะทำให้ทราบตัวเลขหน้าชัดเจน และนำไปประเมินเกี่ยวกับการกู้เงินเพื่อชดเชยภาระหนี้ดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันได้หารือเกี่ยวกับฐานะการคลัง และกระแสเงินสด พบว่า ไม่มีปัญหาภาระหนี้กระจุกตัวในเวลาเวลาหนึ่งจนมีปัญหาสภาพคล่อง จึงยังไม่จำเป็นต้องเร่งออก พ.ร.บ.กู้เงินพิเศษเพื่อชำระหนี้จากโครงการรัฐวงเงิน 7 แสนล้านบาท ตามที่นายสมหมาย ภาษี ได้เสนอไว้ในช่วงที่ผ่านมา จึงต้องทบทวนแผนดังกล่าวให้ชัดเจน เพราะกระแสเงินสดขณะนี้อยู่ในกรอบบริหารจัดการได้ จึงไม่จำเป็นต้องเสนอออกกฎหมาย เพราะต้องเสนอหลายขั้นตอน

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า สตง.ได้เน้นการตรวจสอบในเชิงรุกให้ประชาชนตื่นตัว และมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบการใช้เงิน หากพบว่ามีปัญหาการใช้เงินไม่โปร่งใส แม้ไม่เข้าข่ายคอร์รัปชัน แต่หากเป็นการใช้จ่ายขาดประสิทธิภาพ ไม่ประหยัด หรือใช้เงินไม่คุ้มค่า สามารถแจ้ง สตง.ให้เข้าตรวจสอบการใช้เงินของหน่วยงานรัฐ

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การกำหนดยุทธศาสตร์แนวทางการป้องกันทุจริตเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากป้องกันไม่ดีประเทศอาจต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้นานกว่า 50 ปี ขอเสนอในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับภารกิจของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้เปลี่ยนจาก สตง. เป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของชาติ (ตงสช.) เพื่อเพิ่มภารกิจดูแลทรัพย์สินของชาติทั้งหมด โดยไม่ใช่ดูแลการใช้เงินเพียงอย่างเดียว และเสนอให้เดินหน้าการตั้งศาลวินัยการเงินการคลัง เพื่อเอาผิดกับผู้บริหารหน่วยงาน และการออกนโยบายผิดพลาด โดยแยกมาจาก สตง.

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอการตั้งศาลวินัยการเงินการคลังและงบประมาณ โดยแยกมาจากคณะอนุกรรมการ คตง. เพื่อยับยั้งโครงการทุจริตไม่ให้เกิดความเสียหาย สำหรับการทำงานระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ควรแยกออกให้เป็นอิสระ แต่ให้ทำงานร่วมกันในการตรวจสอบ รวมทั้งเสนอ ต้องแก้ไข กม. สตง. ห้ามส่งตัวแทนไปเป็นกรรมการชำระบัญชีของหน่วยงานถูกยุบองค์กร เพราะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

นอกจากนี้ ยังเสนอว่า ปปช. ควรเปิดช่องทางด่วนพิเศษ เมื่อ สตง.ได้ตรวจพบสิ่งผิดปกติ เนื่องจากหลักฐานของ สตง.มีความน่าเชื่อถือ ไม่ควรไปต่อคิวเหมือนกับคดีทั่วไป เพื่อเร่งรัดการดำเนินคดีเอาผิดได้อย่างรวดเร็ว และตรวจสอบขยายผลไปยังส่วนต่างๆ และกรณีรับเงินแผ่นดินเงินหลวงนำไปให้เอกชน สตง.ควรมีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนราชการ เช่น มูลนิธิ วัด เงินบริจาค สตง. ควรมีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบได้

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า เสนอให้เน้นตรวจสอบเพื่อเอาผิดระดับหัวหน้าปลาใหญ่ เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมีน้อย และสร้างอาสามัครภาคประชาชนมาเป็นเครือข่ายภาคประชาชนติดตามตรวจสอบร่วมกัน เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาร่วมกับเจ้าหน้าที่ สตง. อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น