เมื่อพูดถึงการคืนกำไรแก่สังคมของผู้ประกอบการในทุกๆ ธุรกิจแล้ว เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกๆ รายพยายามที่จะสร้างกิจกรรม หรือจัดทำโครงการดีๆ เพื่อเป็นการคืนกำไรแก่สังคมแน่นอน แต่ก็ต้องรับว่า ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่จัดกิจกรรมคืนกำไรสังคม เพียงเพื่อให้สอดรับต่อข้อบัญญัติของธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ และนำมาใช้ในการสร้างแบรนด์ของบริษัท แต่บางรายกลับให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว และสานต่อกิจกรรม หรือโครงการเพื่อคืนกำไรแก่สังคมจนเป็นที่ยอมรับ และได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้า นำมาซึ่งความแข็งแกร่งของแบรนด์และแบรนด์แวลู จนแบรนด์ของบริษัทเข้าไปครองใจลูกค้าอย่างเหนียวแน่น ส่งผลดีต่อสินค้าของบริษัทนั้นๆ อย่างมหาศาล
สำหรับในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว ที่เห็นเด่นชัดมากคือ “LPN” ซึ่งสามารถพูดได้เต็มปากว่า มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทำกิจกรรม และโครงการการคืนกำไรต่อสังคม รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่ความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสูง จนทำให้วันนี้เมื่อพูดถึงการเลือกซื้อห้องชุด หรือคอนโดมิเนียม ราคาระดับกลาง-ล่าง ชื่อแบรนด์ผู้พัฒนาคอนโดมิเนียม ชื่อแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวของผู้บริโภคหลายๆ รายคือ LPN ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากผู้ริโภคผู้อยู่อาศัยในโครงการของ LPN อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการบริหารจัดการโครงการ การดูแลลูกค้าในฐานนะตัวแทนบริหารชุมชนจากนิติบุคคลอาคารชุด และการรับผิดชอบต่อสังคมในด้านระบบก่อสร้าง ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงเพียงงานก่อสร้างในไซต์งาน แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมรอบข้างในทุกๆ โครงการที่ LPN ได้เข้าไปพัฒนาโครงการในพื้นที่ต่างๆ
“พิเชษฐ ศุภกิจจานุสันติ์” กรรมการบริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า ความหมายของ GRREN นั้นมีความเกี่ยวกับสังคม และสิ่งแวดล้อม และในส่วนด้านของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นมีบทบาท และมีส่วนเกี่ยวข้องต่อสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะโดยภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ จะเกี่ยวกับผู้ประกอบการพัฒนาโครงการส่งมอบให้แก่ลูกค้าเอากำไรเข้ากระเป๋าถือว่าเสร็จสิ้นในเรื่องของกระบวนการขาย นี่คือขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ประกอบการทั่วไป โดยเฉพาะถ้าเป็นบ้านจัดสรร โดยทั่วไปส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ แต่ในส่วนของคอนโดมิเนียมนั้นจำเป็นต้องมีผู้บริหาร และในปัจจุบัน มีกฎหมายให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรร นิติบุคคลอาคารชุดออกมาเพื่อเข้ามาดูแลตัวโครงการ
แต่ในส่วนของ LPN แล้ว ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายและต่อเนื่องไปถึงชีวิตการอยู่อาศัยของลูกค้าหลังส่งมอบห้องชุด LPN ยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ตลอดเวลา รวมถึงในด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น ตึกที่สร้างขึ้นมาไปบังทิศทางลม ไปบังแสง ไปบังทัศนียภาพ ระหว่างก่อสร้าง ฝุ่น เสียง มลพิษ ภาระทั้งหมด รัศมีประมาณ 500 เมตร มีปัญหาหมด สร้างเสร็จคอนโดหลายๆ คอนโดต้องมีการดูแลที่ดี ไม่งั้นจะกลายสลัมลอยฟ้า สร้างภาระให้แก่สังคม
จากแนวคิดของ LPN ที่ทำหน้าที่พัฒนาโครงการอาคารชุดมานาน ได้ตกผลึกด้านความรับผิดชอบในทุกๆด้านว่ามีความจำเป็น และต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบผลกระทบด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อเกิดแนวคิด SD หรือ Sustainable Development คือ การพัฒนาการอย่างยั่งยืน เพราะในสมัยก่อนผู้ประกอบเองจะเน้นผลกำไร ผลกำไรดี ทุกอย่างก็ดี ทุกคนได้ผลตอบแทน แต่ทางนักวิชาการบอกว่า ผลประการในเชิงกำไรอย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องมองไปที่สังคม และสิ่งแวดด้วย
ดังนั้น ขอบเขตของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งเป็นโยบายหลักของบริษัทในปัจจุบันเริ่มขยายกว้าง และะลึกขึ้น ซึ่งถือเป็นการสร้างความยั่งยืนระดับนโยบาย (GREEN POLICY) จากแนวคิดด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ของธุรกิจต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้หลัก Triple Bottom Line (3P) ทำให้ LPN ก้าวมาสู่การค้นพบกลยุทธ์ที่เป็นของตนเอง คือ 6 GREEN LPN
ปัจจุบัน การเติบโตของเมืองและการขยายตัวของระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาที่ดินในเมืองใหญ่สูงขึ้น พฤติกรรมการซื้อที่พักอาศัยของผู้บริโภคจึงเปลี่ยนแปลงไป การเลือกซื้อที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ แนวราบที่เคยเป็นที่นิยม กลับกลายเป็น “คอนโดมิเนียม” หรือที่อยู่อาศัยแนวสูงที่ครองตลาดส่วนใหญ่ บวกกับวิถีชีวิตของคนวัยทำงานที่ต้องการความสะดวกสบายในการเดินทาง ทำให้อาคารชุดพักอาศัยทำเลเกาะแนวรถไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ
ดังนั้น LPN ในฐานะผู้พัฒนาอาคารชุดพักอาศัยที่มุ่งมั่นในส่งมอบบ้านคุณภาพ และ “ชุมชนน่าอยู่” ให้แก่กลุ่มเป้าหมายระดับกลางถึงกลาง-ล่าง ในราคาที่สามารถเป็นเจ้าของได้ (Affordable House) จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการ (Product and Service Value) ด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (STAKEHOLDERS) เพราะ LPN ตระหนักเสมอว่าการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัยมีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนรอบข้าง LPN จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อทุกกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ และกระบวนการพัฒนาโครงการ โดยได้มีการกำหนดเป็นแนวทางในการบริหาร และดำเนินงานในกระบวนการ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
และเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความอย่างยั่งยืน บริษัทได้นำหลัก Triple Bottom Line (3P) ที่บริษัทยึดเป็นแนวทางมากว่า 10 ปี คือ 1.Profit หรือผลประกอบการและเศรษฐกิจ 2.People คนในสังคม และ 3. Planet สิ่งแวดล้อม มาดำเนินการต่อยอดพัฒนาจนเกิดเป็นแนวคิดและกลยุทธ์ในแบบฉบับของ LPN คือ “6 GREEN LPN” ซึ่งเป็นการแตกแขนงจาก Triple Bottom Line (3P) ประกอบด้วย 1.Profit (ผลประกอบการและเศรษฐกิจ) ซึ่งได้แตกออกเป็นGreen Marketing Management และGreen Financial Management 2.People (สังคม) ได้แตกแขนงออกเป็น Green Enterprise และ Green Community Management และ 3.Planet (สิ่งแวดล้อม) แตกออกเป็น Green Design Concept และGreen Construction Process
“Profit” ซึ่งในความหมายของ LPN คือ ผลประกอบการและเศรษฐกิจ มีเป้าหมายในเชิงเศรษฐกิจที่สำคัญของบริษัท คือ การสร้างสมดุลของผลตอบแทนในการดำเนินงานที่พอประมาณและต่อเนื่อง บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบในการประกอบกิจการด้วยความโปร่งใส และเปิดเผย รวมถึงการแบ่งปันผลตอบแทนไปสู่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
ซึ่งบริษัทได้ขยายขอบเขตความรับผิดชอบต่อผลประกอบการ และเศรษฐกิจไปสู่ Green Marketing Management หมายถึง การตลาดที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือลูกค้า และคู่แข่ง โดยบริษัทได้กำหนดกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องต่อปณิธานในการสร้างบ้านหลังแรกที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถเป็นเจ้าของได้ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายระดับกลาง ถึงกลาง-ล่าง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดี ด้วยความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคตั้งแต่ก่อน และหลังการส่งมอบ ตลอดจนดำเนินนโยบายการตลาดที่เป็นธรรม เคารพสิทธิของผู้บริโภค รวมทั้งปฏิบัติต่อคู่แข่งอย่างเป็นธรรม ไม่โจมตี โดยแบ่งตามกลยุทธ์ทางการตลาด 6 ประการ คือ Product, Price, Place, Promotion, People และ Process
และยังต่อยอดออกไปเป็น Green Financial Management คือ การกำหนดผลตอบแทนและการเติบโตขององค์กรให้เหมาะสม ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ รวมทั้งการจัดทำงบการเงินที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ เพื่อความโปร่งใสของงบการเงิน จัดให้มีระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ มีการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญอย่างเพียงพอ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น และนักลงทุนในการใช้งบการเงินตามหลักการของ Accountability Financial Statement ได้แก่ ความโปร่งใส การตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ การเปิดเผย และไม่มีวาระซ่อนเร้น สอบวัดได้ มีวินัย และจัดการความเสี่ยงทางการเงิน
“People” คือ ความรับผิดชอบต่อคนในสังคม ซึ่งบริษัทคำนึงอยู่เสมอว่าธุรกิจนั้นจะเติบโตได้ด้วยพื้นฐานของสังคมที่ดี มีคุณภาพ มีความปลอดภัย การรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบุคลากรภายใน (พนักงาน) เท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงสังคมภายนอก บุคลากรของคู่ค้า ลูกค้า และผู้พักอาศัยในโครงการ รวมถึงสังคมภายนอก อันได้แก่ ชุมชนเพื่อนบ้าน แรงงานก่อสร้าง ตลอดจนสภาพสังคมโดยรวมของประเทศ ซึ่ง 2 แนวคิดจาก “6 GREEN LPN” ที่ใช้ในการดำเนินการ คือ
Green Enterprise คือ การดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการและทุนมนุษย์ ด้วยการกำหนดนโยบายระดับองค์กรที่มุ่งสู่ “องค์กรคุณค่า” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนและการจัดการทุนมนุษย์ Green Community Management คือ การดูแลคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยในโครงการหลังการส่งมอบ รวมทั้งดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัย และชุมชนโดยรอบโครงการ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ด้วยกลยุทธ์ “ชุมชนน่าอยู่” ซึ่งไม่เพียงดูแลรักษาอุปกรณ์ และทรัพย์สินต่างๆ ให้เกิดความพร้อม และปลอดภัยการใช้งานเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญต่อการสร้างความสุข และสังคมที่ดี มีความอบอุ่น ปลอดภัย ด้วยวัฒนธรรมการอยู่อาศัย “ร่วมใจ ห่วงใย แบ่งปัน” และส่งเสริมจิตสำนึกของการใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และสม่ำเสมอ
“Planet” ความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อม ด้วยลักษณะธุรกิจของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีบทบาทและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน จากเหตุผลดังกล่าว บริษัทจึงให้ความสำคัญต่อการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดผลกระทบจากการพัฒนาโครงการในกระบวนการ (In process) ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ กระบวนการก่อสร้าง ตลอดจนดูแลสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน และชุมชนข้างเคียงภายหลังการส่งมอบ โดย 2 แนวคิดจาก “6 GREEN LPN” ที่ใช้ในการดำเนินการ คือ
Green Design Concept คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทจะให้ความสำคัญต่อการออกแบบ และพัฒนาโครงการ ตั้งแต่แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการวางผังโครงการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทได้พัฒนาแนวทางให้สอดคล้องต่อมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building) ของสหรัฐอเมริกา (LEED - The Leadership in Energy and Environmental Design)
Green Construction Process คือ การบริหารจัดการผลกระทบที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากที่สุด บริษัทจึงได้พัฒนากระบวนการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และได้พัฒนากลยุทธ์ Q-C-S-E-S+P เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานก่อสร้างให้ทั้งบุคลากรของบริษัท รวมถึงปิยมิตรผู้ออกแบบ และผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยสำหรับคนงาน และผู้เกี่ยวข้อง
กรรมการบริหาร ได้เล่าถึงกลยุทธ์ดังกล่าวว่า จากกลยุทธ์ 6 GREEN LPN สู่การพัฒนาโครงการสีเขียว LPN Green Project ...กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Green Design Concept) ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่การเลือกทำเล ที่ LPN จะมองหาทำเลในเชิงกลยุทธ์ที่ยังไม่มีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับกลางถึงกลาง-ล่าง (Affordable House) แต่มีความต้องการที่พักอาศัยหนาแน่น มีศักยภาพในการพัฒนา อยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อลดผลกระทบด้านการใช้พลังงาน และการจราจร การออกแบบและจัดวางผังโครงการ มิได้คำนึงแต่การออกแบบพื้นที่สีเขียวภายในโครงการเพื่อความร่มรื่นเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน การใช้น้ำ และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกใช้วัสดุและทรัพยากรที่เหมาะสม การสร้างสิ่งแวดล้อมภายในอาคารที่มีคุณภาพแก่ผู้อยู่อาศัย รวมทั้งการนำนวัตกรรมจากการออกแบบมาใช้งาน
สำหรับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการก่อสร้าง (Green Construction Process) ครอบคลุมทั้งในบริเวณก่อสร้างและบริเวณข้างเคียง ซึ่งนอกเหนือจากการการดำเนินงานตามหลักกลยุทธ์การก่อสร้าง และมาตรฐานด้านการกำกับดูแลผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดระยะเวลาในการพัฒนาโครงการ อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้อยู่อาศัยข้างเคียง เพื่อรับฟังข้อคิด และกำหนดแนวทางป้องกันผลกระทบร่วมกัน ทั้งในเรื่องของ ฝุ่น เสียง การจราจร การสั่นสะเทือน และความปลอดภัยในการก่อสร้าง เป็นต้น
เป็นระยะเวลากว่า 5 ปีของการเพิ่มความเข้มข้นในกระบวนการพัฒนาโครงการ กับ LPN Signature Green Project ...โครงการลุมพินี เพลส พระราม 9-รัชดา นับเป็นโครงการพักอาศัยที่พัฒนาขึ้นตามมาตรฐาน และเป็นต้นแบบโครงการ LPN Green Project แห่งแรกที่เสร็จสมบูรณ์ และในปัจจุบัน LPN มีโครงการภายใต้การพัฒนาตามมาตรฐาน LPN Signature Green Project อีก 2 โครงการ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2557 ได้แก่ โครงการ ลุมพินี พาร์ค นวมินทร์-ศรีบูรพา โครงการอาคารชุดพักอาศัย สูง 15 ชั้น บนเนื้อที่ 15 ไร่เศษ บนถนนนวมินทร์ และโครงการมิลล์ เพลส โพศรี ศูนย์การค้าชุมชน หรือคอมมูนิตี มอลล์ ที่พัฒนาภายใต้มาตรฐานอาคารเขียว “LEED” แห่งแรกของ LPN และแห่งแรกในจังหวัดอุดรธานี
แนวคิดในการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน อันเป็นกลยุทธ์ในแบบฉบับของ LPN “6 GREEN LPN” และการพัฒนาโครงการภายใต้มาตรฐาน LPN Green Project นับเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความรับผิดชอบของ LPN ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสานฝันการมี “บ้าน” คุณภาพ และสังคมที่เปี่ยมสุขให้แก่ทุกครอบครัวตามกลยุทธ์การสร้าง “ชุมชนน่าอยู่”