xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ทรุดรับสร้างบ้านกระอักไตรมาส 2 ลดฮวบ 20% ผู้บริโภคหันสร้างบ้านถูกราคา 2-3 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สิทธิพร สุวรรณสุต
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ประเมินสถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้าน ระบุไตรมาส 2 ลดฮวบ 20% จากไตรมาส 1 ชี้ผู้บริโภคสร้างบ้านถูกลง 2-3 ล้านบาท จากเดิมเลือกสร้าง 3-5 ล้านบาท สะท้อนความไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจ คาดตลาดรับสร้างบ้านทั้งปีลด 10-20% จากมูลค่าตลาด 1.6 หมื่นล้านบาท

สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ประเมินภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัดในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า ความต้องการสร้างบ้าน และกำลังซื้อของผู้บริโภคปรับตัวลดลงชัดเจน โดยลดลงทั้งในแง่ของปริมาณรวม และมูลค่าต่อหน่วย กล่าวคือ ความต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ปริมาณลดลงกว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้กว่าร้อยละ 20 ขณะเดียวกัน มูลค่าหรือราคาบ้านต่อหน่วยก็ลดลงด้วยเช่นกัน โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาเลือกปลูกสร้างบ้านราคาไม่เกิน 2-3 ล้านบาทเศษ จากเดิมที่นิยมเลือกสร้างบ้านในระดับราคา 3-5 ล้านบาทขึ้นไป

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนได้ว่า ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไปยังไม่เชื่อมั่นต่อทิศทางเศรษฐกิจประเทศ และรายได้ของตัวเองในอนาคต ทั้งนี้ กำลังซื้อที่ลดลงเกิดขึ้นหลายไตรมาสติดต่อกันแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ถดถอย

ส่วนภาพการแข่งขันของตลาดรับสร้างบ้านช่วงไตรมาส 2 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านหรูมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น แถมทองคำ แจกรถยนต์ ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านหลังเล็ก-กลางนั้น ต่างเน้นกลยุทธ์ลดราคา เช่น ส่วนลดเงินสดสูงสุด 10-20% (มีเงื่อนไข) ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อผู้บริโภค แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมีความระมัดระวังในการลงทุน และใช้จ่ายมากกว่าภาวะปกติ ทำให้ไม่สามารถปลุกกำลังซื้อให้คึกคักได้

จากการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการต่างยอมรับว่า ความสนใจสร้างบ้านหลังใหม่ในช่วงไตรมาส 2 ค่อนข้างเงียบเหงากว่า เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรก และไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ประกอบการที่เลือกเจาะตลาด หรือเข้าถึงกำลังซื้อผู้บริโภคกลุ่มพื้นที่ใหม่ๆ หรือโฟกัสกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจน และมีการแข่งขันน้อย พบว่า ยังมีกำลังซื้อ และขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่แชร์ส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นก็ไม่อาจช่วยให้มูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านขยายตัว

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ คาดการณ์ว่า ทิศทางตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 3 มีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ด้วยเพราะผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่แข่งขันอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีการจัดกิจกรรมตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ และกำลังซื้อผู้บริโภค กอปรกับผลการสำรวจออนไลน์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายระบุว่า มีแผนจะสร้างบ้านหลังใหม่ในปี 2558 นี้ โดยสามารถแบ่งตามรายไตรมาสมีดังนี้ คือ กลุ่มแรกปลูกสร้างไตรมาสที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 33 กลุ่มที่ 2 ปลูกสร้างไตรมาส 2 คิดเป็นร้อยละ 17 กลุ่มที่ 3 ปลูกสร้างไตรมาส 3 คิดเป็นร้อยละ 19 และกลุ่มที่ 4 ปลูกสร้างไตรมาสสุดท้าย คิดเป็นร้อยละ 31

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง สมาคมฯ ประเมินว่า ยังมีปัจจัยลบรอบด้านทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และกำลังซื้อผู้บริโภค เช่น ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาหนี้เสียสถาบันการเงิน ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ และเศรษฐกิจยุโรปทรุด ฯลฯ ในขณะที่มองหาปัจจัยบวกเพื่อจะเรียกความเชื่อมั่น และกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคแทบไม่มี

ดังนั้น จึงเชื่อว่าแนวโน้มการแข่งขันของผู้ประกอบการในครึ่งปีหลังน่าจะรุนแรงมากกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีผู้ประกอบการแข่งขันกันอยู่มากกว่า 100 ราย รวมถึงตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัดที่มีการแข่งขันไม่มาก แต่ด้วยกำลังซื้อที่มีอยู่จำกัดก็น่าจะทำให้การแข่งขันรุนแรงเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มักใช้กลยุทธ์ตัดราคา เพื่อให้ได้งาน และมีเงินหมุนเวียนมาเลี้ยงพนักงานในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้บริโภคที่เลือกใช้บริการ หากว่าผู้ประกอบการประสบปัญหา และปิดกิจการลง

นอกจากนี้ ฝ่ายวิชาการสมาคมฯ ประเมินว่า สถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีหลังแนวโน้มไม่สดใส หากไม่มีการกระตุ้นกำลังซื้อ หรือขาดแรงจูงใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่ดีพอ เชื่อว่ามูลค่ารวมตลาดรับสร้างบ้านปี 2558 นี้ มีโอกาสปรับตัวลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10-20 จากที่ก่อนหน้านี้ประเมินไว้ว่า มูลค่ารวมตลาดรับสร้างบ้านปีนี้ประมาณ 1.6 หมื่นบ้านบาท ดังนั้น ทางออกของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้มี 2 แนวทางที่สมาคมฯ แนะนำคือ 1.ควบคุมการบริหารจัดการ และปรับลดค่าใช้จ่าย เพื่อประคองตัวรอรับเศรษฐกิจฟื้น 2.สร้างมูลค่าเพิ่ม และโฟกัสกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน พร้อมสร้างแรงจูงใจ หรือกระตุ้นกำลังซื้อที่โดนใจมากขึ้น

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเลือกที่จะแข่งขัน และใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่ง สมาคมฯ แนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการตัดราคาขายจนเท่าทุน หรือขาดทุน เพราะจะกลายเป็นว่าเอาตัวรอดได้ในวันนี้ กลับต้องไปเผชิญปัญหาในวันหน้า แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการควรเน้นปฏิบัติคือ การสร้างความแตกต่างกับคู่แข่งในตลาด และทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในมาตรฐานคุณภาพ และบริการ เพราะด้วยสถานการณ์ที่ผู้บริโภคไม่อาจไว้วางใจผู้ประกอบการรายใดว่าจะรอดหรือไม่รอด “ความเชื่อมั่น” เท่านั้นที่จะเป็นแรงจูงใจ หรือกระตุ้นการตัดสินใจ “ราคา” หาใช่ปัจจัยแรก หรือสำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจ สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่เลือกใช้บริการกับบริษัทรับสร้างบ้าน หรือศูนย์รับสร้างบ้านในปัจจุบัน

แม้ว่าความต้องการสร้างบ้าน และกำลังซื้อในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่เชื่อว่ายังมีกำลังซื้อของผู้บริโภคอีกกลุ่มใหญ่ที่ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึง อาจด้วยเพราะติดเงื่อนไขพื้นที่ให้บริการหรือสาขาให้บริการ การสื่อสารที่ผู้บริโภครับรู้ต่อธุรกิจไม่ชัดเจน (ลักษณะของธุรกิจ และราคาที่แตกต่างกับผู้รับจ้างรายย่อยทั่วไป) ฯลฯ ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปลดล็อก หรือปรับตัวเองให้สอดคล้องต่อกำลังซื้อที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อสามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ และกลุ่มใหม่นี้ โดยอาจเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภค หรือสร้างเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็ง และผู้บริโภคเชื่อมั่น เพื่อเจาะเข้าถึงกำลังซื้อ และแชร์ผลประโยชน์ร่วม อย่างเช่น การรวมกลุ่มกันภายใต้ระบบแฟรนไชส์รับสร้างบ้าน กลุ่มพันธมิตรวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งจะเน้นการดำเนินธุรกิจ และการตลาดไปในทิศทางเดียวกันได้ดีกว่า การรวมตัวกันเป็นแค่ชมรม หรือสมาคม ดังจะเห็นได้จากการขยายตลาดรับสร้างบ้านออกไปทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วของกลุ่มแฟรนไชส์รับสร้างบ้านที่มีอยู่ในปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น