รายงานการประเมินสถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้าน ซึ่งจัดทำโดยสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. พบว่า การออกมากระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน และสมาคมคาดมีการใช้งบกว่า 40 ล้านบาท ในการโฆษณา และจัดกิจกรรมการตลาด หรือ “อีเวนต์มาร์เกตติ้ง” ทั้งในส่วนของสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ซึ่งได้จัดงาน “มหกรรมสร้างบ้านและวัสดุก่อสร้าง” ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือน ม.ค. ขณะที่สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้จัดงาน “โฮมบิลเดอร์ โฟกัส” ซึ่งสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน และกำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังชะลอตัว สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศในปีนี้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายปี 57 สมาคมฯ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปี58 จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 57 แต่จากสภาพเศรษฐกิจจริงในช่วง 3 เดือนแรก ปรากฏว่า ยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องหันมาเน้นจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และอัดโปรโมชันกันอย่างดุเดือดตั้งแต่ไตรมาสแรก เพื่อหวังเรียกความเชื่อมั่น และกระตุ้นกำลังซื้อให้กลับคืนมาโดยเร็ว ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่า มีทั้งโปรโมชันลดราคาบ้านสูงสุด 25% หรือมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท แจกรถยนต์ มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท แถมทองคำ เครื่องปรับอากาศ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า สามารถกระตุกอารมณ์ซื้อผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการสอบถามความเห็นผู้บริโภคพบว่า พอใจ หรือสนใจโปรโมชั่นลักษณะใดมากที่สุด คำตอบที่ได้รับคือ “ส่วนลดเงินสด”
ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ได้มีการสำรวจข้อมูลวิธีการเสนอขายบ้านของบรรดาผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในตลาดรับสร้างบ้านในปัจจุบัน พบว่า บริษัทรับสร้างบ้านที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับบน หรือระดับราคาบ้าน 20 ล้านบาทขึ้นไป ต่างหันมานำเสนอการให้บริการในรูปแบบใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.ให้บริการรับสร้างเฉพาะตัวบ้าน และ 2.ให้บริการสร้างบ้าน-รั้ว พร้อมตกแต่งภายใน และจัดสวน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อหน่วยให้สูงขึ้น โดยมุ่งตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง และต้องการความสะดวก หรือบริการแบบวันสต็อป เซอร์วิส
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลสำรวจเมื่อปี 2557 ระบุว่า สัดส่วนของกลุ่มลูกค้าที่จะสร้างบ้านระดับราคา 20-30 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวนหน่วยเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น ของจำนวนหน่วยตลาดรวมรับสร้างบ้าน หรือประมาณ 4,200-4,300 หน่วย ขณะที่ในปัจจุบัน มีบริษัทรับสร้างบ้านไม่ต่ำกว่า 30 ราย มาจับกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนักกัน ซึ่งอาจจะทำให้การแข่งขันในกลุ่มตลาดรับสร้างบ้านหรูดุเดือดยิ่งขึ้นในปี 2558 นี้
กำลังซื้อปรับตัวลดลง
จากการที่สมาคมฯ สำรวจข้อมูล และสอบถามผู้ประกอบการในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ปริมาณความต้องการสร้างบ้านยังมีจำนวนให้สามารถแชร์ตลาดอยู่มากพอ เพียงแต่ว่าราคาต่อหน่วยที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติราคาบ้านต่อหน่วยในปี 2557 ที่ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดเลือกปลูกสร้างบ้านราคาเฉลี่ยหน่วยละ 4-5 ล้านบาท ในขณะที่ 3 เดือนแรกของปี 2558 นี้ ผู้บริโภคลือกสร้างบ้านในกลุ่มราคาหน่วยละ 2-4 ล้านบาทมากที่สุดเป็นอันดับ 1 หรือกว่าร้อยละ 80
ข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนได้หลายมุมมอง เช่น อาจเป็นเพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจริง หรือระมัดระวังการลงทุนหรือใช้จ่ายมากขึ้น อีกมุมหนึ่งวิเคราะห์ได้ว่า ราคาบ้าน 3-4 ล้านบาทที่ได้รับความนิยมสูงสุดอาจเป็นเพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้หันมาใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น จากเดิมที่เคยใช้บริการผู้รับเหมารายย่อยทั่วไปเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่สร้างบ้านในต่างจังหวัด ซึ่งสอดคล้องต่อมูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านที่ยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง
แนวโน้มรับสร้างบ้านครึ่งปีแรก
สำหรับทิศทางตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 2 นี้ สมาคมฯ ประเมินว่า แนวโน้มความต้องการสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าทรงตัว หรือใกล้เคียงกับช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากแรงกระตุ้นการรับรู้ และกำลังซื้อผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของผู้ประกอบการทั้ง 2 สมาคม ซึ่งน่าจะยังส่งผลดีต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 กอปรกับการปรับตัวของผู้ประกอบการเองที่หันมาเน้นทำการตลาดในวงกว้างมากขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มกำลังซื้อใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้นตามมา
ในส่วนของการแข่งขันของผู้ประกอบการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คาดว่าจะเน้นการแข่งขันราคาเป็นสำคัญ เหตุเพราะต่างต้องการเร่งยอดขายเพื่อให้เข้าเป้าหมายครึ่งปีแรกที่ตั้งไว้มากที่สุด โดยเฉพาะรายใหญ่ หรือกลุ่มผู้นำตลาด ที่เน้นปริมาณ หรือต้องการแชร์ส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ซึ่งกลุ่มนี้จะใช้ระบบโครงสร้างสำเร็จรูป ซึ่งอาจมีโรงงานผลิตเอง และมีความได้เปรียบในแง่ต้นทุน รวมทั้งกำลังการผลิตต่อปี สำหรับรายที่ใช้ระบบก่อสร้างแบบเดิมๆ นั้นจะไม่เน้นรับสร้างบ้านต่อปีในปริมาณมาก แต่คาดว่าจะหันมาเน้นจับกลุ่มลูกค้าบ้านหรู และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการให้บริการแบบวันสต็อป เซอร์วิสแทน
ขณะที่ “สิทธิพร สุวรรณสุต” นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน คาดการณ์ภาพรวมตลาด ว่า เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ยังไม่ฟื้นตัวจริง ประเมินได้จากความเชื่อมั่นและอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำต่างเร่งปรับตัวให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ ดังจะเห็นได้จากการนำกลยุทธ์แข่งขัน “ลดราคา” มาใช้กระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค อย่างไรก็ดี หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้ ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 มาแทนกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา เชื่อว่าจะส่งผลในแง่จิตวิทยา และเรียกความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการกลับมาดีขึ้น
สำหรับปริมาณ “บ้านสร้างเอง” ประเภทบ้านเดี่ยวทั่วประเทศในปี 2558 นี้ หลังจากผ่าน 3 เดือนแรกแล้ว สมาคมฯ ได้ปรับลดประมาณการจำนวนหน่วยเหลือ 6-7 หมื่นหน่วย จากก่อนหน้านี้ประมาณการไว้ที่ 8 หมื่นหน่วย ทั้งนี้ ประเมินว่าเป็นบ้านที่จะปลูกสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีจำนวน 1.3-1.4 หมื่นหน่วย และปลูกสร้างในภูมิภาค หรือต่างจังหวัด จำนวน 5 หมื่นหน่วยเศษ โดยมีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านจากทั่วประเทศ (จำนวน 170-180 ราย) แชร์ส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 4,200-4,500 หน่วย คิดเป็นมูลค่าตลาดรวม 1.4-1.6 หมื่นล้านบาท (เฉลี่ยหน่วยละ 3-4 ล้านบาท)
ทั้งนี้ เห็นว่าปริมาณ หรือสัดส่วน “บ้านสร้างเอง” ยังมีความต้องการของผู้บริโภคสร้างใหม่อีกมาก หากผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั้งรายเดิม และรายใหม่มีการปรับตัว หรือขยายตลาดออกไปยังต่างจังหวัด เพื่อสามารถเข้าถึงกำลังซื้อผู้บริโภคได้มากขึ้น เชื่อว่าภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปีนี้ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะไม่เอื้อก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับปริมาณ หรือจำนวนหน่วยของตลาดรวม “รับสร้างบ้าน” โดยมักนำจำนวนหน่วยของภาพรวมตลาด “บ้านสร้างเอง” ทั้งหมดมาอ้างอิงว่าคือ มูลค่าตลาดรับสร้างบ้าน ซึ่งอันที่จริงแล้วจำนวนหน่วย “บ้านสร้าเอง” นั้นหมายถึง จำนวนหน่วยหน่วยรวมของทั้งผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน และผู้รับเหมาทั่วไป ทั้งนี้ ในส่วนของปริมาณบ้านสร้างเองประเภทบ้านเดี่ยว ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี) เฉลี่ยแล้วมีอยู่ประมาณ 1.5-1.6 หมื่นหน่วยต่อปีเท่านั้้น