xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เศรษฐกิจแย่ จน...เครียด...ฆ่าตัวตาย ถึงเวลา “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ขบวนการชูรักแร้หนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ต่อไปอีกนานๆ เห็นทีจะผิดหวังเป็นแน่แท้ ถ้าหากว่าเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือปัญหาเศรษฐกิจยังติดหล่มมีแต่ทรงกับทรุดอยู่อย่างนี้

ถึงแม้ดรีมทีมเศรษฐกิจที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงกลาโหม “พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์” คัดสรรมาอย่างสุดฝีมือจะบอกพ้นจุดต่ำสุดแล้ว และนายกรัฐมนตรี ก็ไม่อยากได้ยินใครบ่นถึงปัญหาปากท้อง และเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้นอย่างช้าๆ ดูจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน อย่าไปเชื่อคำพูดที่ว่าเศรษฐกิจตกต่ำ แต่จะทำ อย่างไรได้ก็ตัวเลขที่ออกมามันฟ้องอย่างนั้น

แม้แต่นักถอนขนห่านก็ยอมรับมาตรการรีดภาษีที่เดินมาครึ่งปีงบประมาณพลาดเป้าไปหลายหมื่นล้าน ขณะเดียวกัน ดัชนีภาวะเศรษฐกิจภาคครัวเรือนตัวเลขก็ทุบสถิติต่ำสุด แรงซื้อทั้ง ประชาชนทั้งชาวรากหญ้าและชนชั้นกลางก็แผ่ว แม้แต่ “ดัชนีมาม่า” จากเจ้าสัวค่ายสหพัฒน์ ยังช่วยยืนยันซ้ำว่ายังไม่มีข่าวดี

ขณะเดียวกัน มูดี้ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระหว่างประเทศ ซึ่งจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เรตติ้ง) ของไทย ให้ยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ “Baa1” แต่ก็แสดงความห่วงใยต่อปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลในประเทศ โดยหนี้ครัวเรือนและหนี้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอี อยู่ในภาวะที่น่าห่วงมากจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและจะทำให้เอ็นพีแอลเพิ่มสูงขึ้น

ตัวเลขจากมูดี้ แสดงให้เห็นว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมา หนี้บุคคลธรรมดารายย่อยสูงขึ้นทุกประเภท คือ เครดิตการ์ด จาก 3.2% เป็น 3.9%, หนี้ผ่อนบ้าน จาก 2.2% เป็น 2.4%, หนี้ผ่อนรถ จาก 2.5% เป็น 2.6%, หนี้กู้ส่วนตัว จาก 2.5% เป็น 2.8% และเอสเอ็มอี จาก 3.1% เป็น 3.3% ส่วนรัฐบาลมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง คือผลกระทบจากการแบ่งขั้วการเมือง รวมถึงหนี้สาธารณะที่อาจปรับตัวขึ้น

เศรษฐกิจไม่ดี จน เครียด แค่นั้นยังพอทำเนา แต่คราวนี้ถึงกับมีข่าวใหญ่พาดหัวตัวเป้งฆ่ากันตายยกครัว กรณีพ่อค้าหนุ่มเครียด ทำมาหากินฝืดเคือง หนี้สินพะรุงพะรัง ตกงานมา 3 ปี ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น เลยคิดสั้นคว้าปืนยิงลูกเมียดับก่อนฆ่าตัวตายคาบ้านย่านบางขุนศรี กรุงเทพฯ ทำเอาผู้คนถึงกับช็อกกันทั้งเมือง

สถานการณ์เยี่ยงนี้ แม้ว่า กองเชียร์อยากให้ “บิ๊กตู่” อยู่ต่ออีกนานๆ แต่ก็คงลำบาก เพราะจะต้องเผชิญกับแรงเสียดทานที่หนักหนาสาหัสมากเป็นลำดับ

หากมองจากภาพใหญ่ ไม่มีอะไรที่จะสะท้อนภาวะเศรษฐกิจให้เห็นชัดเจนว่ารุ่งหรือร่วงได้ดีไปกว่าตัวเลขการจัดเก็บภาษี เพราะถ้าเศรษฐกิจรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี การจัดเก็บภาษีก็พุ่งกระฉูด แต่หากยามใดที่เศรษฐกิจซบเซา ตัวเลขการจัดเก็บภาษีก็จะพลาดเป้า เนื่องจากประชาชนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย เมื่อยอดขายสินค้าลดลงก็จะทำให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้น้อยลง และภาษีนิติบุคคลที่เก็บจากผู้ประกอบการก็ลดต่ำลงตามไปด้วย

ข่าวร้ายที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่อยากได้ยินแต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเศรษฐกิจยังย่ำแย่ ยังโงหัวไม่ขึ้นโดยดูจากการจัดเก็บภาษีที่พลาดเป้านั้น มาจากคำ แถลงของนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ที่โชว์ตัวเลขรายได้จากการจัดเก็บภาษีในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.2557 - เม.ย.2558) ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 4 หมื่นกว่าล้านบาท เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เก็บจากผลประกอบการในปี 2557 ต่ำกว่าเป้าถึง 10% จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งการจัดเก็บภาษีปิโตรเคมีและภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่ต่ำกว่าเป้าหมายจากผลของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ

หากรัฐบาลและดรีมทีมเศรษฐกิจ ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นเพราะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว การคาดการณ์การจัดเก็บภาษีก็คงไม่ต่ำไปกว่านี้มากมายนัก

ทว่า อธิบดีกรมสรรพากร กลับออกมาคาดการณ์ชนิดดับฝันว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2558 จะต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 1.6 แสนล้านบาท โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคคาดว่าจะหายราว 4 หมื่นล้านบาท และผลจากการลดลงของราคาน้ำมันที่จะทำให้การจัดเก็บรายได้จากการนำเข้าน้ำมันหายไปอีก 6 หมื่นล้านบาท รวมถึงผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คาดว่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 10%

7 เดือนผ่านไปแล้ว ยังไม่มีข่าวดี และอีก 5 เดือนข้างหน้าที่จะสิ้นปีงบประมาณ 2558 ก็เป็นไปได้สูงอย่างยิ่งว่าจะยังไม่มีข่าวดีเช่นเดียวกัน

ภาพสะท้อนความอ่อนแอของกำลังซื้อภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดเก็บภาษีพลาดเป้า ยังยืนยันจากการเปิดเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจภาคครัวเรือนในเดือน พ.ค. 2558 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมาว่า ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดยอยู่ที่ 45.0 จาก 45.8 เมื่อเดือนเม.ย. 2558 เหตุจากครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวังเนื่องจากรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรยังไม่กลับมาฟื้นเพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงที่เปิดภาคการศึกษาใหม่

ผลสำรวจภาวการณ์ครองชีพของภาคครัวเรือนล่าสุดนี้ ยังสะท้อนว่า หากมองออกมาจากมุมของภาคครัวเรือนแล้ว สภาวะแวดล้อมและปัจจัยทางเศรษฐกิจยังมีสัญญาณที่อ่อนแอโดยเฉพาะสถานการณ์รายได้และเงินออมที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น การบริโภคของภาคครัวเรือนยังอยู่ในภาวะค่อนข้างซบเซา และมีความกังวลต่อค่าครองชีพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า กำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว เป็นสัญญาณที่ย้ำว่า การบริโภคภาคเอกชนน่าจะยังคงเผชิญแรงกดดันที่ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ โดยอาจขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2558

ขณะที่ศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. 2558 ปรับตัวลดลงที่ 75.6 จากเดือน เม.ย. 76.6 ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อประชาชน โดยเฉพาะระดับกลางและระดับล่าง เห็นได้จากการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งรถยนต์ ชะลอตัว แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต คาดการณ์ว่าน่าจะกลับมาฟื้นได้ครึ่งหลังของปี

หากสดับรับฟังจากน้ำเสียงจากภาคเอกชน บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่ากำลังซื้อของครัวเรือนหดหายเช่นเดียวกัน

ดังจะเห็นจากข่าวคราวที่นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อ โดยยอมรับว่าสถานการณ์ในปัจจุบันกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศอยู่ในภาวะไม่แข็งแรง และมีแนวโน้มถดถอยลงตามลำดับ พร้อมกับชี้แนะว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจให้กำลังซื้อกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นไม่สามารถใช้แนวทางลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ควรหามาตรการอื่นๆ เข้ามาช่วยเสริมด้วย โดยเฉพาะการทำให้เงินลงไปหมุนเวียนในกลุ่มประชาชนระดับล่าง จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

นั่นหมายความว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนของภาครัฐ และโครงการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานตามแบบฉบับของรัฐราชการเดิมๆ นั้นมันไม่ค่อยได้ผล เพราะไปกระจุกตัวอยู่ในคนไม่กี่กลุ่ม สู้โครงการที่ทุ่มเม็ดเงินลงสู่ชนชาวรากหญ้า ซึ่งเมื่อมีเงินก็จับจ่ายใช้สอยก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า

แต่ก็อย่างว่าเหรียญมักมีสองด้านเสมอ โครงการที่เอาเม็ดเงินลงสู่รากหญ้าซึ่งรู้กันทั่วไปว่าเป็นโครงการประชานิยมนั้น ก็เกิดช่องโหว่ช่องว่างให้ทุจริตคอร์รัปชั่นกันมากเสียจนมีแต่เสียงค้านถ้ารัฐบาลคิดจะทำอย่างนั้นอีก

ไม่นับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข็ดขยาดกับโครงการประเภทนี้ เพราะต้องมาแบกหม้อก้นดำจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้น เมื่อขยับไปทางไหนก็ไม่ได้การกระตุ้นเศรษฐกิจของดรีมทีมเศรษฐกิจจึงมุกแป๊ก ผสมผสานกับเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนักก็เลยไปกันใหญ่ ฉุดให้ภาคส่งออกติดลบต่อเนื่อง ดังตัวเลขเมื่อเดือน เม.ย. 2558 ลดลง 1.70% จากก่อนหน้านี้ เดือน ม.ค.ติดลบ 3.46% ก.พ. ลบ 6.15% และ มี.ค. ลบ 4.45%

การวัดกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มคนรากหญ้าซึ่งเป็นคนจำนวนมากของประเทศจาก “ดัชนีมาม่า” น่าจะบอกได้เป็นอย่างดีว่าจะรอให้เศรษฐกิจดียังต้องลุ้นกันอีกหลายยก โดยนายสุชัย รัตนเจียเจริญ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ในเครือสหพัฒน์ฯ ให้สัมภาษณ์ว่า กำลังซื้อระดับรากหญ้ายังไม่ฟื้นตัวมากนัก เห็นได้จากยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่า 1.54 หมื่นล้านบาท อยู่ในภาวะทรงตัวจากปลายปีที่แล้ว และคาดปีนี้เติบโต 7-8% ต่างจากอดีตที่เคยเติบโต 10% ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม มีคนมองมุมต่างว่า "ดัชนีมาม่า" ที่ยอดตก ก็อาจเป็นเพราะผู้บริโภคหันไปกินหลากหลายมากขึ้นก็เป็นได้

ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆ ตัวจะออกมาจะสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซา แต่ในแง่ของการบริหารประเทศแล้วผู้บริหารกระทรวงการคลัง ก็อยากจะโชว์ผลงานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ว่าน่าจะยังไปได้ดี เรื่องนี้ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้ความเชื่อมั่นและยังคงคาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 3.7% โดยเชื่อว่าไตรมาส 3 และ 4 จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายและสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้า อีกหนึ่งเรื่องคือค่าเงินบาทหากยังอ่อนค่าอยู่แถว 33-34 บาทจะหนุนส่งออก

กระทรวงการคลัง ประมาณการจีดีพีล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 3.7% ปรับลดจากประมาณการครั้งก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 3.9% เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวลดลง

แต่ทว่า ขณะที่ “ลูกพี่” รายงานคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจต่อนายกรัฐมนตรียังไม่ทันไร ในอีกไม่กี่วันถัดมา “ลูกน้อง” ก็เปรยถึงการปรับลดการคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลง เพราะยังไม่เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะหน่วยงานที่ดูตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมตัวจริงที่อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง ก็คือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.เตรียมปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้ลง หลังจากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลต่อภาคส่งออกที่เป็นตัวเลขที่มีสัดส่วนสำคัญในการใช้คำนวณจีดีพี การประกาศเป้าหมายจีดีพีครั้งใหม่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนก.ค.นี้

เศรษฐกิจที่เติบโตต่ำกว่าเป้าหมายและกำลังซื้อที่หดหายไปในเวลานี้ บางกระแสเสียงอาจมีข้อสงสัยว่าเป็นผลมาจากวงจรของธุรกิจสีเทาที่ถูกทางการเข้มงวดในยุค คสช. นี้หรือไม่

ว่ากันว่าธุรกิจสีเทาหรือกิจกรรมธุรกิจที่ผิดกฎหมายหรือผิดบางส่วน เช่น หวยใต้ดิน บ่อนการพนัน ซ่องโสเภณีในทุกรูปแบบ การปล่อยเงินกู้นอกระบบ กับขบวนการค้ายาเสพติด มีเม็ดเงินสูงถึง 1 ใน 3 ของจีดีพี ซึ่งน่าจะตกราว 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี เคยประกาศกร้าวว่าจะเอาจริง

แต่ถ้าหากถามกันว่าเวลานี้เอาจริง ปราบจริงแค่ไหน แล้วเม็ดเงินที่อยู่ในธุรกิจสีเทาหมุนวนเข้าสู่ระบบกี่มากน้อย ก็หาได้มีความชัดเจนในเรื่องนี้ไม่

เอาเฉพาะการจัดการเรื่องหวยแค่จะขายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ได้ในราคา 80 บาท ก็ยากปานเข็นครกขึ้นภูเขาแล้ว ส่วนเรื่องบ่อนการพนัน ซ่องโสเภณี ไม่ต้องพูดถึง ยังไม่ลงมือจัดการอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หรือว่าจะเอาไหม "เอ็นเทอเทรนเม้นท์คอมเพล็ก" ดูดเงินใต้ดินขึ้นมาเข้าระบบก็เงียบ ที่เห็นๆ กลับมีแต่ไล่รื้อแผงลอย จัดระเบียบ ตัดฟันต้นยางพารา ซึ่งทำให้ประชาชนเบี้ยน้อยหอยน้อยหมดทางทำมาหากินหนักขึ้นไปอีก เม็ดเงินที่หล่อเลี้ยงชีวิต เศรษฐกิจรากหญ้าก็พลอยแห้งเหือดไปด้วย

ถามดรีมทีมเศรษฐกิจที่นำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ถามรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้งว่านอกจากการลงทุนภาครัฐ การลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ซึ่งกระจุกความรวยเฉพาะกลุ่ม มีอะไรใหม่ๆ ที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจไหม จะหวังจากการท่องเที่ยว ซึ่งกำลังฟื้นก็จริง แต่ก็มีเสียงเตือนมาบ้างแล้วว่าให้ระวังถ้าจะพึ่งแต่ทัวร์จีนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ หากเศรษฐกิจจีนเกิดสะดุดขึ้นมาก็จบเห่

ส่วนอีกสองขาคือ ส่งออกยังโงหัวไม่ขึ้น และการบริโภคภายในประเทศนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะหนี้สินครัวเรือนพุ่งกระฉูด เกือบ 80 ของจีดีพี และตัวเลขการบริโภคภาคครัวเรือนก็ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนแล้ว การจะไปขอร้องให้บริษัทห้างร้านช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือน ขอร้องให้ 7-11 รับของจากชุมชนมาขายหรือเปิดให้ขายหน้าร้าน ก็เป็นเพียงดราม่าหน้าเซเว่นฯ เท่านั้น เพราะเป้าหมายในการทำธุรกิจคือต้องทำกำไรสูงสุด

ขณะที่การจัดหาที่ทำกิน ลดค่าเช่า สนับสนุนเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์การเกษตร หรือแม้แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ก็เป็นแต่เพียงวิมานในอากาศที่วาดฝันกันมาหลายยุคหลายสมัยที่ยังไม่เป็นจริง

แล้วจะทำอย่างไรถึงจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นได้ในเมื่อดรีมทีมเศรษฐกิจของพี่ใหญ่เอาไม่อยู่

คำตอบก็คือ คงถึงเวลา “เปลี่ยน” ซึ่งก็ดูเหมือนว่า มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ และคนที่เป็นเต็งหนึ่งนอนมาเห็นทีจะหนีไม่พ้นอดีตขุนพลเศรษฐกิจยุคนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตรที่ชื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เพราะเวลานี้ก็ทำงานรับใช้รัฐบาล คสช.อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่สามารถออกหน้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการได้

ยิ่งเมื่อมีนายวิษณุ เครืองาม มือกฎหมายของรัฐบาลและคสช.ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชื่อของนายสมคิดก็ยิ่งเป็นที่กล่าวขาน เพราะความเห็นของ ครม.ซึ่งเป็นเนื้อเดียวกับองค์รัฏฐาธิปัตย์อย่าง คสช.ขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวยกเลิกคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ สนช. ที่ระบุเอาไว้ว่า ไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจึงจะเข้ามาเป็น สนช.หรือ ครม.ได้

นายวิษณุกล่าวชัดเจนว่า เป็นการแก้ไขเพื่อนำไปใช้ในกรณีของการเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เช่น รัฐมนตรี สปช.หรือแม้แต่จะเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติก็สามารถอนุโลมใช้ได้

นี่คือการเดิมพันแก้เกมเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาล คสช. ซึ่งเชื่อว่า ไม่ผิดไปจากนี้อย่างแน่นอน


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประชุมร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)คณะรัฐมนตรี(ครม.)สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่สโมสรทหารบก วิภาวดีรังสิต
กำลังโหลดความคิดเห็น