THAI พลิกกำไร 4,500 ล้านบาท ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวประเทศไทย และการขยายตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ประกอบกับการปรับปรุงประสิทธิภาพในการหารายได้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมลดลง 11.6% ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 1/58 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 58 ปรากฏว่าบริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรก่อนกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีเงินได้ และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ จำนวน 4,415 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาส 1/57 ขาดทุน 3,287 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 9,654 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8,664 ล้านบาท แต่มีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบิน จำนวน 11,804 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11,720 ล้านบาท เป็นผลให้บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 4,549 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 2,619 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ จำนวน 4,541 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.08 บาท เปรียบเทียบกับปีก่อนซึ่งขาดทุน 2,634.11 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.21 บาท
“ตั้งแต่ต้นปีบริษัทมีจำนวนผู้โดยสาร 5.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีประมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 12.3% ปริมาณการผลิตผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 4.5% อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 75.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 70.1% ทำให้รายได้จากการให้บริการ เพิ่มขึ้น 1,683 ล้านบาท หรือ 3.4% ตามจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวประเทศไทย และการขยายตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ประกอบกับการปรับปรุงประสิทธิภาพในการหารายได้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมลดลง 6,020 ล้านบาท หรือ 11.6% สาเหตุใหญ่เนื่องจากราคาน้ำมันเฉลี่ยลดลง” นายจรัมพร กล่าว
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI ระบุว่า บริษัทได้เริ่มดำเนินการตามแผนปฏิรูปในขั้นตอนแรกการหยุดการขาดทุน หรือ Stop the bleeding โดยหยุดทำการบินในเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โจฮันเนสเบิร์ก ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2558 และหยุดทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-มอสโก และภูเก็ต-โซล ตามตารางการบินประจำภาคฤดูร้อน 2015 (Summer TPI 2015) ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2558 ควบคู่ไปกับการปรับแบบเครื่องบินให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาด และดำเนินการตามแผนการปรับปรุงฝูงบิน (Fleet Strategy) โดยการปลดระวางเครื่องบิน 11 ลำ และขายเครื่องบินเก่าที่ปลดระวางแล้ว จำนวน 2 ลำ ในขณะที่รับมอบเครื่องบินใหม่รวม 2 ลำ ทำให้ฝูงบิน ณ 31 มีนาคม 2558 มีจำนวน 93 ลำ มีอายุเฉลี่ยของฝูงบินลดลงจาก ณ 31 ธันวาคม 2557 ที่ 8.3 ปี เป็น 7.6 ปี
ส่งผลให้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 บริษัท และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 292,165 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2557 จำนวน 15,102 ล้านบาท คิดเป็น 4.9% หนี้สินของบริษัทและบริษัทย่อยเท่ากับ 246,320 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 จำนวน 19,651 ล้านบาท คิดเป็น 7.4% และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 45,845 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2557 จำนวน 4,549 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ นายจรัมพร เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ วันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ซึ่งในการประชุมมีมติแต่งตั้ง นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทฯ รวมถึงได้แต่งตั้งรองประธานกรรมการบริษัท มี พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง รองประธานกรรมการคนที่ 1 นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองประธานกรรมการคนที่ 2 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองประธานกรรมการคนที่ 3 ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2558
แหล่งข่าวจาก บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวว่า ในช่วงกลางปีนี้ถึงไตรมาส 3/58 บริษัทฯ เตรียมออกหุ้นกู้ จำนวน 8 พันล้านบาท เพื่อใช้รองรับโครงการเออร์ลี รีไทร์ จำนวน 5.5 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ชำระหนี้
อนึ่ง ในช่วงเดือน เม.ย. บริษัทฯ ได้ดำเนินการออกหุ้นกู้ไปแล้ว จำนวน 7 พันล้านบาท ส่วนใหญ่นำไปชำระหนี้ โดยการออกหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นไปตามแผนที่บริษัทฯ ต้องการออกหุ้นกู้วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากการออกหุ้นกู้ล็อตแรกไปแล้ว ทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดดีขึ้น
ด้าน นายวรเนติ หล้าพระบาง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด บริษัทในเครือบมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/58 อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) อยู่ที่ 70% ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้เพราะการแข่งขันสูง ส่วนในไตรมาส 2/58 ในช่วงวันหยุดยาวต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารหนาแน่นมากเพราะเที่ยวในประเทศมาก แต่ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ ส่วนใหญ่ไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากกว่า
“ปีนี้บริษัทตั้งเป้า Cabin Factor เฉลี่ยที่ 75% โดยตั้งเป้าปีนี้จะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 3.8 ล้านคน จากปีก่อนที่ 1.2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นอีก 2.6 ล้านคน” นายวรเนติ กล่าว
นายวรเนติ กล่าวถึงแผนการดำเนินงาน บ.ไทยสมายล์ ทั้งปี 2558 ว่า จะเปิดจุดบินไปต่างประเทศใหม่หลายจุด โดยเริ่ม 16 มิ.ย.นี้จะเปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง ทำการบิน 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และในวันที่ 31 ก.ค.นี้ จะเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ-มัณฑะเลย์ ทำการบิน 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ นอกจากนี้ ไทยสมายล์เตรียมจะเปิดจุดบินที่จีน ที่เมืองฉางชา ทำการบิน 7 วัน/สัปดาห์ โดยระหว่างนี้รออนุญาตจากทางการจีน จึงจะกำหนดว่าจะเริ่มบินเมื่อไร คาดว่าน่าจะทำการบินได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ รวมทั้งจะเพิ่มจุดบินใหม่ในอินเดีย และมาเลเซียด้วย
ปัจจุบัน สายการบินไทยสมายล์ ทำการบิน 10 เมือง เป็น 9 เมือง ในประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงราย หาดใหญ่ อุบลราชธานี อุดรธานี สุราษฎร์ธานี และนราธิวาส สำหรับเส้นทางบินต่างประเทศมีเส้นทางมาเก๊า ทั้งนี้ จะมี 3 เมืองที่ทำการบิน 2 สนามบิน ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของการบินไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตรากำไร 19% เมื่อปี 2552 ลดเหลือเพียง 9.6% ในปี 2556 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 อยู่ที่ระดับ 4.5% สาเหตุจากความเสี่ยงในเหตุการณ์ต่างๆ ภายในประเทศ เช่น อุทกภัยครั้งใหญ่ และความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง และการแข่งขันที่รุนแรงจากสายการบินเต็มรูปแบบ และสายการบินต้นทุนต่ำ กดดันต่อการปรับเพิ่มราคา อีกทั้งยังมีต้นทุนในการดำเนินงานในสัดส่วนที่สูง และไม่สามารถปรับลดได้มากนัก
ขณะที่งบการเงินใน SET ให้ข้อมูลบริษัทว่า ในปี 2555 มีรายรับสุทธิ 2.09 แสนล้านบาท ต่อมาในปี 2556 ลดเหลือ 2.06 แสนล้านบาท ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 มีรายรับ 1.38 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายรับ 1.53 ล้านบาท ขณะที่กำไร-ขาดทุนสุทธิของปี 2555 มีกำไร 6.2 พันล้านบาท ต่อมา ในปี 2556 ขาดทุนถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ติดลบ 9.21 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนติดลบ 6.35 พันล้านบาท