เมืองไทย ลิสซิ่ง ไตรมาสแรกกำไร 181.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน ขณะยอดปล่อยสินเชื่อรวม 3,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.43% ส่วนใหญ่ 90% เป็นลูกหนี้ปกติคือ ค้างชำระไม่เกิน 30 วัน สำหรับหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับ 1.27% ของพอร์ตสินเชื่อรวม และสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้เกือบ 3 เท่าของ NPL เดินหน้าผุดเพิ่ม 300 สาขาตามแผน รับความต้องการของลูกค้า มั่นใจยอดปล่อยกู้ทะลุ 1.65 หมื่นล้านบาท ผลักดันรายได้ และกำไรโตไม่ต่ำกว่า 30%
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (MTLS) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 1/58 มีกำไรสุทธิ 181.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.76 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับยอดปล่อยสินเชื่อรวม 3,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.43% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 8.67% ของไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และในช่วงไตรมาส 1/58 บริษัทได้เปิดสาขาใหม่เพิ่ม 180 สาขา ซึ่งกระแสตอบรับจากลูกค้าดีมาก ทำให้ต้องปรับแผนเปิดสาขาใหม่เป็นปีละ 300 สาขา (ปีพ.ศ.2558-2560) ซึ่งจะทำให้ภายในสิ้นปี 2560 มีสาขาทั่วประเทศถึง 1,400 สาขา จาก เป้าหมายเดิมที่ 1,000 สาขา
“หลังจากที่เราเร่งขยายสาขาในจังหวัดต่างๆ ในช่วงไตรมาสแรก สัมผัสได้เลยว่า ความต้องการสินเชื่อของคนในระดับรากหญ้ายังมีอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เปิดโอกาสให้เราในการขยายตลาด และทำให้พอร์ตสินเชื่อของเราปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นที่มาให้เราปรับแผน 3 ปีใหม่ โดยเตรียมเปิดสาขาเพิ่มเป็น 1,400 สาขา เพราะนั่นหมายถึงจำนวนฐานลูกค้าใหม่ และพอร์ตสินเชื่อรวมที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกทั้งยังเป็นการรองรับแผนการรุกตลาดนาโนไฟแนนซ์” นายชูชาติ กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2558 บริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 16,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับยอดปล่อยสินเชื่อในปีที่ผ่านมา ส่วนรายได้ และกำไรคาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังไม่นับรวมกับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ที่บริษัทพร้อมดำเนินการได้ทันที หากได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากมีฐานลูกค้า 6-7 แสนราย ไว้รองรับอยู่แล้ว และการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทั่วประเทศไทย ทำให้โอกาสในการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมขยายพอร์ตสินเชื่อในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ เพิ่มเป็น 5% จากเดิมที่ยังไม่ได้รุกตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลมากนัก ขณะที่สินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 70% และสินเชื่อรถยนต์ รถเพื่อการเกษตรอยู่ที่ 25%
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการบริหารความเสี่ยงจากปล่อยและการชำระหนี้ บริษัทมี MTL Model ที่ใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ และติดตามหนี้ เชื่อว่าจะสามารถรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปีนี้ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1.5% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 4-6%