xs
xsm
sm
md
lg

“นาโน ไฟแนนซ์”...ดีจริง? เมื่อธุรกรรมมีความเสี่ยงสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ภาคเอกชนมอง “นาโนไฟแนนซ์” ยังมีความเสี่ยงจากการไร้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และเป็นการปล่อยสินเชื่อบุคคล หลายบริษัทขอขยายเวลาตัดสินใจก่อนเพิ่มไลน์ธุรกิจ

การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของภาครัฐในการผลักดันให้เกิด “นาโนไฟแนนซ์” แม้ในด้านทฤษฎีจะดูดีน่าสนใจ และเชื่อว่าอาจสามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ได้ จนทำให้มีภาคเอกชนภาคธุรกิจการเงินหลายรายยื่นขอใบอนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอประกอบธุรกิจดังกล่าวแล้ว และมีผลให้ราคาหุ้นที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือหุ้นมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกรรมดังกล่าวได้รับอานิสงส์จนราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมามากในปัจจุบัน

แต่ด้วยความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ยังมีภาคเอกชนอีกส่วนที่มองว่าเรื่องดังกล่าวไม่ควรรีบร้อนเข้ามาลงทุน และต้องการเวลาในการพิสูจน์ว่า “นาโนไฟแนนซ์” จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้หลายต่อหลายคนที่สนใจ และเริ่มกลับมาพิจารณาถึงเหตุผลดังกล่าวเช่นกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากเหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้ “นาโนไฟแนนซ์”ระบุอย่างชัดเจนว่า เป็นการปล่อยกู้ที่ไม่หลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มีสูง

 “ยาซูฮิโกะ คอนโดะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (AEONTS) ยอมรับว่า บริษัทสนใจเข้าทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา และความเป็นไปของดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ และรอประกาศเงื่อนไขที่ชัดเจนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และเมื่อทุกอย่างลงตัวบริษัทก็ความพร้อมในการดำเนินงาน หากกฎเกณฑ์ออกมาอย่างชัดเจน

“ตอนนี้ก็ศึกษาความคุ้มค่า และเงื่อนไขของทางแบงก์ชาติว่า จะออกมาเป็นอย่างไร ตอนนี้มีช่องให้เราทำ เราก็จะทำ กำไรไม่เยอะก็ไม่เป็นไร แต่วงเงินที่แบงก์ชาติเสนอมา 1 แสนบาท เราไม่ติดขัด แต่เรื่องอัตราดอกเบี้ย 36% เราคิดว่ายังตึงไป เมื่อรวมกับค่าดำเนินการก็จะไม่คุ้มค่า ตอนนี้ขอรอดูประกาศเงื่อนไขของแบงก์ชาติให้ชัดเจนก่อน”

ด้าน “บุญยง ตันสกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER) กล่าวว่า ขอเวลาอีก 2 ปีก่อนค่อยตัดสินใจเข้ามาในธุรกิจนี้ เพื่อดูว่า 5-7 บริษัทที่เดินหน้าทำธุรกิจดังกล่าวจะได้รับผลตอบรับเป็นอย่างไร

“เรามองว่า นาโนไฟแนนซ์สามารถช่วยฟื้นสภาพคล่องในระบบรากหญ้าได้จริง แต่เรื่องดังกล่าวก็จะกลับกลายเป็นการเพิ่มมูลหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มขึ้นกับวงเงินสินเชื่อ 1 แสนบาท ทำให้ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ถึงจะมองออกว่าทิศทางของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จะเป็นอย่างไรเรารอได้”

กรรมการผู้จัดการใหญ่ SINGER กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพธุรกิจที่ SINGER ทำในปัจจุบันแม้จะคล้ายคลึงกับธุรกิจ “นาโนไฟแนนซ์” อยู่แล้ว แต่ SINGER มีสินค้าซึ่งเปรียบเสมือนหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะสินค้าของบริษัทมีราคาเฉลี่ย 5 หมื่น-1 แสนบาท ช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้บ้าง

“สินค้าของนาโนไฟแนนซ์คือ เงินสด เพราะรัฐบาลต้องการให้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อเอาเงินไปลงทุน ไปต่อยอดประกอบอาชีพสร้างงาน สร้างรายได้ หรือกู้เงินในระบบเหล่านี้ไปชำระคืนสินเชื่อนอกระบบ แล้วผ่อนหนี้ในระบบทางเดียว ถามว่าทฤษฎีดีไหม ตอบได้เลยว่าดี แต่หากคนกู้เอาเงินไปทำอย่างอี่นแล้วก็เป็นหนี้ทั้ง 2 ทางคือ ทั้งในระบบ แล้วก็นอกระบบ มีภาระเพิ่มขึ้นใหม่ เงินจมหายไปหรือไม่ และด้วยการไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้เรื่องนี้มีความเสี่ยง”

โดยที่ผ่านมา บริษัทยอมรับว่าเคยทดลองปล่อยสินเชื่อรายย่อยรูปแบบคล้าย “นาโนไฟแนนซ์” มาแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยง 100% หากไม่มีระบบการติดดตามที่ดี อีกทั้งไม่มีการตรวจสอบการใช้เงินอย่างเคร่งครัด จึงยุติการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวลงในเวลาสั้น

ด้าน “สมพล เอกธีรจิตต์” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ลีซ อิท (LIT) ให้ความเห็นว่า บริษัทไม่สนใจจะเดินหน้าธุรกิจ “นาโนไฟแนนซ์” พร้อมยืนยันว่าแนวทางการจับกลุ่มลูกค้าสินเชื่อของ LIT นั้นเดินมาถูกทางแล้ว เพราะผู้ประกอบการ SME นั้นเป็นกลุ่มที่ทำงานจริง มีรายได้หมุนเวียนสามารถส่งเงินได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การที่ LIT ประกอบธุรกิจ Microfinance (ไมโครไฟแนนซ์) ถือว่าความเสี่ยงทางธุรกิจน้อยกว่านาโนไฟแนนซ์มาก นอกจากนี้ มองว่าธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ เป็นสินเชื่อสำหรับกลุ่ม Consumer ซึ่งมีความเสี่ยงมากในการบริหารจัดการขั้นตอนการติดตามทวงถาม

“การทำสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นั้นเป็นสินเชื่อขนาดเล็กสำหรับผู้บริโภค หรือ Consumer ซึ่งลูกค้าคือผู้ก่อหนี้โดยตรง เวลาทวงถามติดตามบริษัทก็ทวงถามติดตามจากลูกค้า แต่การที่ LIT ปล่อยสินเชื่อให้ SME และคู่ค้าของ SME คือ ราชการ เวลาทวงถามติดตาม LIT ก็ทางถามจากหน่วยงานราชการที่เป็นคู่ค้าของลูกค้า LIT ไม่ได้ทวงถามจากลูกค้า ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้สูญจึงน้อยมาก นอกจากนี้ การทำสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แม้จะคิดอัตราดอกเบี้ยได้ถึง 36% แต่หากเกิดหนี้สูญเพียง 1 ราย จากลูกค้า 3 รายก็แย่แล้ว”

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2558 “สมพล” เชื่อว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังส่งสัญญาณชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ธนาคารพาณิชย์คุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่เรื่องดังกล่าวเป็นผลดีต่อบริษัท เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ทำให้บริษัทมีโอกาสปล่อยสินเชื่อได้เพิ่ม และมีความเสี่ยงน้อยเมื่อเทียบกับการปล่อยสินเชื่อเป็นรายบุคคล และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

“ฐานลูกค้าหลักของ LIT เป็นSME ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสียมีน้อย เนื่องจากบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เห็นได้จากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของ LIT มีเพียง 2% เท่านั้นเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวม ผมยอมรับว่าปี 2557 ทั้งรายได้ และสัดส่วนสินเชื่อเราโตไม่ถึง 30% ตามที่สัญญาไว้ อย่างไรก็ตาม ผมมั่นใจว่าทั้งปี 2558-2559 เราจะบริหารให้ทุกสัดส่วนขยายตัวได้ 30% ต่อปี”

เช่นเดียวกับ “โกวิท รุ่งวัฒนโสภณ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (THANI) ยืนยันว่า แม้รัฐบาลจะมีนโยบายที่จะให้มีการจัดตั้ง “นาโนไฟแนนซ์” แต่ทางบริษัทมองว่าไม่ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ เพราะนาโนไฟแนนซ์จะเป็นการปล่อยสินเชื่อที่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ขณะที่การปล่อยสินเชื่อรถมีมูลค่าสูงกว่ารายละ 1 แสนบาทอยู่แล้ว จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมขอรับใบอนุญาตดังกล่าว

ทั้งนี้ แม้ “นาโนไฟแนนซ์” ช่วยเพิ่มสีสัน แต่ไม่มีใครกล้าฟันธงได้ว่า นาโนไฟแนนซ์จะสร้างผลกำไรก้อนโตให้แก่บริษัทที่เข้ามาดำเนินธุรกิจ จากความเสี่ยงสูงของการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างยังต้องติดตามดูกันต่อไปว่า หลังนาโนไฟแนนซ์เกิดขึ้นมาแล้วผลตอบรับเป็นเช่นไร บริษัทที่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการมีรายได้ และกำไรเพิ่มขึ้นจากธุรกิจดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน จึงจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า “นาโนไฟแนนซ์” เหมาะสำหรับคนไท
กำลังโหลดความคิดเห็น