บลจ.วรรณประเมินหุ้นไทยไตรมาส 2/2558 จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,500-1,600 จุด มองปัจจัยบวกยังไม่ชัดเจน ล่าสุดเตรียมส่งกองทุน “วรรณ กองทุนคุณธรรม (ชะรีอะห์) 6 ฟันด์” เพิ่มทางเลือกการลงทุนที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามให้แก่ชาวมุสลิม
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด กล่าวว่า สำหรับทิศทางของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 2/58 คาดว่าดัชนีเคลื่อนไหวที่ 1,500-1,600 จุด สถานการณ์การลงทุนช่วงปลายปียังคงให้น้ำหนักความอ่อนไหวทางการเมืองเป็นหลัก หากเกิดความขัดแย้งโอกาสดัชนีหลุด 1,400 จุดมีสูง ส่วนกลุ่มหลักที่เหมาะกับการลงทุนคือ หุ้นกลุ่มธนาคารขนาดกลางที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับนาโนไฟแนนซ์ กลุ่มพลังงานขนาดใหญ่ กลุ่มอาหารและค้าปลีก เป็นต้น
“สภาพการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันอยู่ได้ด้วยนักลงทุนรายย่อยเป็นหลัก ซึ่งสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยในปัจจุบันมีประมาณ 55-70% แล้วในส่วนของรายใหญ่ที่แฝงอยู่ในรายย่อยประมาณ 50-60% ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่เยอะมาก ดังนั้นตลาดหุ้นไทยปัจจุบันสัดส่วนรายย่อยเทียบนักลงทุนสถาบันนับว่ามีจำนวนมาก”
ล่าสุดบริษัทเตรียมออกกองทุนเปิด วรรณ กองทุนคุณธรรม (ชะรีอะห์) 6 ฟันด์ หรือ ONE-SHARIAH6 ซึ่งเหมาะกับชาวมุสลิมตามหลักชารีอะฮ์ หรือประมวลข้อปฏิบัติต่างๆของกฎหมายศาสนาของศาสนาอิสลาม โดยกองทุนตามหลักชารีอะฮ์ดังกล่าวไม่เหมือนกับกองทุนที่มีอยู่ในตลาดกองทุนรวมก่อนหน้านี้ โดยกองทุนจะมีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 100-200 ล้านบาท เน้นลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ตรงตามหลักศาสนาอิสลามและมีการเจริญเติบโตที่ดี ซึ่งในตลาดฯ มีมากกว่า 200 บริษัท
ทั้งนี้ กองทุน ONE-SHARIAH6 อยู่ระหว่างรออนุมัติจากคณะกรรมการทางศาสนาอิสลามและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดว่าพร้อมเสนอขายได้ภายในเดือน พ.ค. 58 นี้ สำหรับวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งกองทุนนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการลงทุนให้แก่นักลงทุนตรงตามหลักศาสนา โดยช่วงแรกเน้นนักลงทุนในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นอันดับแรก พร้อมเตรียมหาช่องทางการขยายฐานลูกค้าจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
นายวิน กล่าวต่อว่า สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) บริษัทปีนี้ยังอยู่ในระดับกว่าแสนล้านบาท หลังจากทะลุเป้าหมายที่ 100,000 ล้านบาทไปเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน บลจ.วรรณมีมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 45% กองทุนส่วนบุคคล มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 15% และที่เหลือเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1)