ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ณ ไตรมาสแรก พ.ศ.2558 อยู่ในภาวะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังคงไม่ฟื้นตัวตามรายงานวิจัยฉบับล่าสุดของฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย กล่าวว่า คอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในไตรมาสแรก พ.ศ.2558 มีประมาณ 10,450 ยูนิต ลดลงจากไตรมาสที่ 4 พ.ศ.2557 ประมาณ 32% ซึ่งเกิดขึ้นจากตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวังในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อเนื่องให้คนไทยชะลอการตัดสินซื้อที่อยู่อาศัย หรือสร้างหนี้ที่มีภาระผูกพันระยะยาวออกไปก่อน และมีผลให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ลดลงเช่นกัน แต่ยังคงมีสัญญาณที่ดีขึ้นในเดือนมีนาคม เพราะว่า มีคอนโดมิเนียมเกือบ 7,000 ยูนิตเปิดขายในเดือนมีนาคม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงแผนการเปิดขายโครงการใหม่ในปีนี้ไว้ แต่เลือกที่จะจับตาดูภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด
คอนโดมิเนียมที่เปิดขายในไตรมาสแรก พ.ศ.2558 ส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอก หรือนอกเหนือพื้นที่เส้นทางรถไฟฟ้าสายปัจจุบัน โดยคิดเป็นประมาณ 51% ของจำนวนยูนิตที่เปิดขายในไตรมาสแรกทั้งหมด แต่ว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าไตรมาสอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด โดย นายสุรเชษฐ ได้ขยายความในเรื่องนี้ว่า “ในไตรมาสแรก พ.ศ.2558 ผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในมากขึ้น เนื่องจากเปิดขายโครงการที่มีราคาขายมากกว่า 100,000 บาทต่อตารางเมตรมากขึ้น อีกทั้งมีหลายโครงการที่มีราคาขายมากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตร หรือมากกว่า 300,000 บาทต่อตารางเมตร”
อัตราการขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในไตรมาสแรก พ.ศ.2558 อยู่ที่ประมาณ 54% ต่ำกว่าหลายไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังคงดีกว่าไตรมาสแรพของปี พ.ศ.2557 แม้ว่าความเชื่อมั่นของผู้ซื้อจะยังคงต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยในกลุ่มของคอนโดมิเนียมระดับราคาไม่เกิน 100,000 บาทต่อตารางเมตร จะอยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น ในขณะที่คอนโดมิเนียมที่มีราคาขายในช่วงระหว่าง 200,001-250,000 บาทต่อตารางเมตร กลับมีอัตราการขายได้ที่ประมาณ 81% สูงที่สุดเมื่อเทียบกับระดับราคาอื่นๆ เนื่องจากคอนโดมิเนียมในระดับราคานี้จะเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีชื่อเสียง และตั้งอยู่ในทำเลที่ดี
นายสุรเชษฐ กล่าวว่า กลุ่มผู้ซื้อในกลุ่มของผู้ที่มีรายได้ระดับปานกลางลงไปยังคงมีปัญหาในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่มีผลต่อสถานะการเงิน และการขอสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งทำให้มียอดการขอสินเชื่อไม่ผ่านในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูงคือ ที่ประมาณ 25-30% และมีผลต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการ ดังนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงชะลอการเปิดขายโครงการในระดับนี้ออกไปก่อน โดยเน้นการเพิ่มสัดส่วนในตลาดระดับบน และ Luxury รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนในโครงการบ้านจัดสรรให้มากขึ้น ตลาดคอนโดมิเนียมอาจจะมีการขยายตัวมากขึ้นในแง่ของกำลังซื้อเมื่อผ่าน 6 เดือนแรกของปีนี้ไป และภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นจากการที่รัฐบาลเริ่มเดินหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น และช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐมากขึ้น
“แม้ว่าคอนโดมิเนียมที่เหลือขาย และที่เป็นของนักลงทุน รวมทั้งที่เกิดจากการขอสินเชื่อไม่ผ่านจะมีจำนวนไม่น้อย หรืออาจจะมากกว่า 60,000 ยูนิต แต่ว่าตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร ก็ยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะถ้าโครงการรถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดินต่างๆ ยังคงเดินหน้าขยายออกไปตามชานเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง และคอนโดมิเนียมยังคงมีราคาต่ำกว่าบ้านจัดสรรในทำเลติดสถานีรถไฟฟ้า”