xs
xsm
sm
md
lg

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยดัชนีไตรมาสหน้าจ่อดิ่ง 33.5% เหตุเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย
ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยยกเลิกกฎอัยการศึกส่งผลดีต่อภาพรวมการลงทุน ทำให้กองทุนต่างประเทศมั่นใจสถานการณ์ความขัดแย้งคลี่คลาย เข้าลงทุนในไทย และการท่องเที่ยวพลิกสู่ภาวะปกติ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว คาดอีก 3 เดือนข้างหน้าอาจปรับตัวลดลงถึง 33.5%



นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO กล่าวว่า การยกเลิกกฎอัยการศึก และหันมาใช้มาตรา 44 แทนนั้นจะเป็นผลดีมากกว่าเนื่องจากต่างประเทศส่วนใหญ่มีความกังวลในสถานการณ์ความขัดแย้งที่คลุมเครือของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งหลายประเทศในทวีปยุโรปจะมีความตื่นตระหนกและมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมาก เนื่องจากบางบริษัทประกันไม่สามารถให้การครอบคลุมต่อผู้ถือกรมธรรม์ที่อยู่ในเขตพื้นที่กฎอัยการศึกได้ อีกทั้งกองทุนในบางประเทศที่มีนโยบายไม่เข้าไปลงทุนในประเทศที่มีกฎอัยการศึกอยู่

ขณะที่ในส่วนของดัชนีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันนี้ (2 เม.ย.) ที่ปรับตัวขึ้น ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ส่วนหนึ่งเป็นการตอบรับต่อข่าวดีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก และทางประเทศจีนจะมีการออกนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในประเทศและภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 78.90 ปรับตัวลดลง 33.5% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนความเชื่อมั่นลดลงอย่างมาก และเข้าสู่สภาวะซบเซาโดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมากที่สุด คือเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัว ประเด็นต่อมา คือ นโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ และเศรษฐกิจต่างประเทศเป็นหลัก โดยหมวดอุตสาหกรรมที่ยังคงน่าลงทุนมากที่สุด คือ ธนาคารพาณิชย์ ขณะที่หมวดยานยนต์เป็นกลุ่มที่ไม่น่าลงทุนมากที่สุด ขณะที่สภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับสูงสุดของภูมิภาค มีอัตราการหมุนรอบซื้อขาย (Velocity) อยู่ในระดับ 87.9% สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยตลาดหุ้นสิงคโปร์อยู่ที่ 33% มาเลเซีย 23% อินโดนีเซีย 21% และฟิลิปปินส์ 16%

ในส่วนของนายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.กล่าวถึงปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในไตรมาสที่ 1/2558 อยู่ที่ 54,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 45,000 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนบุคคลในประเทศจากสัดส่วน 62% เป็น 64% ขณะที่คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะยังคงลงทุนในประเทศไทยแม้สถานการณ์ยังอยู่ในภาวะผันผวน เนื่องจากปัจจุบันระดับ P/E ลดลงเหลือเพียง 14.77 เท่า จากช่วงปลายปีก่อนขึ้นไปที่ 17-18 เท่า ส่งผลให้มุมมองของนักลงทุนต่างชาติต่อตลาดหุ้นไทยถือว่าไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับภูมิภาค อีกทั้งมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของไทยปัจจุบันสูงถึง 15 ล้านล้านบาท มากกว่าของตลาดหุ้นประเทศมาเลเซีย ซึ่งหากมีการเริ่มโครงการลงทุนภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจต่อการลงทุนในมากขึ้น

ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า มองเป้าดัชนี SET INDEX ในปีนี้อาจมีการแกว่งตัวขึ้นไปแตะถึง 1,750 จุด โดยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่ดัชนี SET INDEX เคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,700 จุด โดยทั้งปี INDEX อาจแกว่งตัวมากถึง 400 จุด ขณะที่หุ้นในกลุ่มที่บริษัทฯ ให้น้ำหนักกับการลงทุนได้แก่กลุ่มอสังหาฯ เช่น PS , AP เนื่องจากเป็นหุ้นที่มีราคาถูกและมีปันผลดี ขณะที่ WHA, AMATA มีโครงการต่อเนื่องขนาดใหญ่ ส่วนหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับอานิสงส์จากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ได้แก่ CK, CKP โดยเฉพาะ CKP ที่จะมีรายได้แน่นอนระยะยาวจากต่างประเทศ ขณะที่หุ้นกลุ่มค้าปลีกที่มีความโดดเด่น เช่น CPALL, CPN, MC จะมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นส่งผลให้ประชาชนมีการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนกลุ่มท่องเที่ยวที่จะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ได้แก่ AOT, AAV ที่นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศยุโรปถอนประเทศไทยออกจากประเทศพึงเฝ้าระวังความปลอดภัย และต้นทุนน้ำมันที่ถูกลง


กำลังโหลดความคิดเห็น