xs
xsm
sm
md
lg

“สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง 14.17% เหตุหุ้นไทยซบเซา (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประเมิน GDP ในปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3-3.5% มองเศรษฐกิจโดยรวมครึ่งปีหลังเริ่มทยอยฟื้นตัว แนะอุตฯ ส่งออกปรับตัวระยะยาวจะได้ไม่เป็นภาระแบงก์ชาติ ชี้นักลงทุนสถาบันต่างประเทศเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากการเร่งเบิกจ่ายนโยบายภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกเลิกกฎอัยการศึก

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO (Federation of Thai Capital Market Organizations) กล่าวว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ในการสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ซึ่งนักลงทุนมองปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนมากที่สุด โดย FETCO ประเมินว่า GDP ในปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3-3.5% โดยพิจารณาจากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนถึงปัจจัยจากต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการลงทุนในประเทศไทย โดยเมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นรายกลุ่มแล้ว พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ และนักลงทุนรายย่อยอยู่ในระดับทรงตัว (Neutral) สำหรับกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และสถาบันในประเทศอยู่ในระดับซบเซา (Bearish)

“แนวโน้มทิศทางอุตสาหกรรมการส่งออกของไทยคาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้น แต่ระยะกลาง และระยะยาว ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกจะต้องมีการปรับตัว เนื่องจากถ้ายังคงต้องพึ่งพิงอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ ก็จะเป็นภาระของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ที่ต้องคอยตรึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเพื่อให้ประเทศคู่ค้ายังคงสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการควรปรับปรุงด้านคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีข้อแม้ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นข้อต่อรอง”

อย่างไรก็ดี ในส่วนของหนี้ภาครัฐของไทยซึ่งอยู่ที่ 46% ซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำหากเทียบกับสัดส่วนการเติบโตของ GDP และหนี้ภาครัฐของประเทศอื่น ขณะที่แนวโน้มดัชนี SET INDEX ในช่วงนี้จะมีความผันผวนในทิศทางขาลง แต่จะมีการแกว่งตัวปรับฟื้นขึ้นมาในระยะสั้นๆ ก่อนที่จะกลับลดลง และแกว่งตัวในทิศทางขาลงต่อเนื่องไปอีก แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าดัชนี SET INDEX ที่ถึงแม้ว่าจะมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จะไม่มีความรุนแรงในช่วงนี้ เนื่องจากกระแสข่าวการที่รัฐพยายามผลักดันการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจออกไปให้ได้มากที่สุดที่สูงถึง 36% ซึ่งเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

ขณะที่ นายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนมิถุนายน 2558 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมนักลงทุนปรับตัวลดลง 14.17% โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มนักลงทุน กลุ่มนักลงทุนรายย่อยมีความเชื่อมั่นลดลง 15.19% บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลง 36.36% สถาบันในประเทศลดลง 14.98% ในขณะที่สถาบันต่างประเทศกลับมีการปรับเพิ่มความเชื่อมั่นการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 30.01% ซึ่งสวนทางกันกับ 3 กลุ่มนักลงทุนก่อนหน้า เนื่องจากมองว่ารัฐบาลพยายามขับเคลื่อนการเบิกจ่ายนโยบายภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการยกเลิกกฎอัยการศึกก่อนหน้านี้ ทำให้ความตึงเครียดที่มีอยู่เบาบางลง แม้จะยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องของความมั่นคงทางการเมือง เช่น กำหนดการเลือกตั้ง และประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่แน่นอน โดยหมวดอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนมากที่สุด ได้แก่ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ขณะที่หมวดอุตสาหกรรมที่ไม่น่าลงทุน มากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) เนื่องจากปัญหาอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) กระทบความเชื่อมั่น และมีความเสี่ยงในการเลือกลงทุน ขณะที่ปัจจัยเชิงบวกที่มีอิทธิพลหลักต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ นโยบายด้านเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยเชิงลบที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ เศรษฐกิจในประเทศ

ส่วน นายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ยังเป็นไปอย่างช้าๆ โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่ภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น การส่งออก การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนยังมีการฟื้นตัวในระดับต่ำ เนื่องจากการส่งออกสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ (Commodity related) และการบริโภคสินค้าคงทน (durable goods) ยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เชื่อว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัว ได้แก่ การท่องเที่ยว และการลงทุนของภาครัฐที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่า จะมีการฟื้นตัวต่อเนื่องในตลอดช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ด้านการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนจากภาคเอกชนคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ชัดเจนมากขึ้นจากนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความชัดเจนจากการลงทุนของภาครัฐ

สำหรับมุมมองของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศต่อตลาดหุ้นไทยนั้น ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ยังไม่กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคงรอความชัดเจนเรื่องการลงทุนของภาครัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงยังต้องการเห็นความชัดเจนของทิศทางรัฐธรรมนูญใหม่ และการเลือกตั้ง นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ยังคงมองว่า มูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่ยังมีอยู่
 


กำลังโหลดความคิดเห็น