xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดซบ!นักลงทุนยังผวา ดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ9เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงและเข้าสู่ภาวะซบเซา ฉุดระดับ P/E ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 14.77 เท่า ตลท. เชื่อมั่นต่างชาติไม่ลดพอรต์ต่ำกว่านี้แล้ว ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.ติดลบอีกเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 9 เดือน หลังปัจจัยลบรุมกระหน่ำ ทั้งแบงก์ชาติปรับลดจีดีพีปี 58 เหลือ 3.8% ตลาดหุ้นตก ส่งออกวูบ
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลุ่มต่าง ๆ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 78.90 ปรับตัวลดลง 33.5%จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าความเชื่อมั่นลดลงอย่างมาก และเข้าสู่สภาวะซบเซา (Beariss) โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมากที่สุด คือเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัว ประเด็นต่อมาคือ นโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ และเศรษฐกิจต่างประเทศเป็นหลัก โดยหมวดอุตสาหกรรมที่ยังคงน่าลงทุนมากที่สุด คือ ธนาคารพาณิชย์ ขณะที่หมวดยานยนต์เป็นกลุ่มที่ไม่น่าลงทุนมากที่สุด
ด้านนายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.เปิดเผยปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันจากต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ 54,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่อยู่ระดับ 45,000 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนบุคคลในประเทศ จากสัดส่วน 62% เป็น 64% ขณะที่คาดว่านักลงทุนต่างชาติคงจะไม่มีการลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยแม้ยังอยู่ในภาวะผันผวน เนื่องจากปัจจุบันระดับ P/E ลดลงเหลือเพียง 14.77 เท่า จากช่วงปลายปีก่อนขึ้นไปที่ 17-18 เท่า ทำให้มุมมองของนักลงทุนต่างชาติต่อตลาดหุ้นไทยถือว่าไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับภูมิภาค โดยหากโครงการลงทุนภาครัฐ เริ่มดำเนินการได้ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจต่อการลงทุนในภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับสูงสุดของภูมิภาค มีอัตราการหมุนรอบซื้อขาย (Velocity) อยู่ในระดับ 87.9% สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยตลาดหุ้นสิงคโปร์อยู่ที่ 33% มาเลเซีย 23% อินโดนีเซีย 21% และฟิลิปปินส์ 16%
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือน มี.ค. 2558 ปรับตัวลดทุกรายการ 3 เดือนติดต่อกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 77.7 ลดจาก 79.1 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 58.8 ลดจาก 59.8 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 84.9 ลดจาก 86.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 67.1 ลดจาก 68.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 72.0 ลดจาก 73.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 94.0 ลดจาก 95.8
ปัจจัยลบที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง มาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2558 เหลือ 3.8% จาก 4% เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง ดัชนี Set Index ในเดือน มี.ค.ปรับตัวลดลง 81.07 จุด การส่งออกเดือน ก.ย. ลดลง 6.15% ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ทั้งข้าวและยางพารา เงินบาทอ่อนค่า และผู้บริโภคยังวิตกปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าสูงขึ้น แม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบ
ส่วนปัจจัยบวกที่มี เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.00% ลงเหลือ 1.75% ราคาขายปลีกน้ำมันปรับตัวลดลงทั้งเบนซินและดีเซล และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2558 จะขยายตัวสูงกว่าไตรมาส 4 ปีที่แล้ว
"ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2557 เพราะผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวม ทำให้ความเชื่อมั่นในอนาคตลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าคนเริ่มกังวลกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต"นายธนวรรธน์กล่าว
นายธนวรรธน์กล่าวว่า จากผลสำรวจประเมินว่า ไตรมาส 2 แนวโน้มการบริโภคของประชาชนจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก เพราะยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าเกษตรมีราคาต่ำลง โดยเฉพาะข้าวและยางพารา ทำให้กำลังซื้อลดลง โดยการบริโภคจะฟื้นตัวเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของรัฐเป็นสำคัญ และต้องเร่งสนับสนุนการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคัก เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้การส่งออกยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าหากมีการกระตุ้นชัดเจนมากขึ้นจะทำให้การบริโภคเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น