ประธานบอร์ด บมจ.ช.การช่าง แถลงถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2558 พร้อมสนับสนุนการควบรวมกิจการของ 2 บริษัทใหญ่ระหว่าง BMCL และ BECL คาดแล้วเสร็จกรกฎาคมนี้ และขายหุ้นทั้งหมดของโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ในลาวให้ CKP ลงทุนธุรกิจพลังงานเต็มสูบ คาดฟันรายได้งามกว่า 33,000 ล้านบาท กุม Backlog หนากว่า 104,928 ล้านบาท
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ช.การช่าง หรือ CK กล่าวถึงผลการดำเนินงานปี 2557 ที่ผ่านมาว่า บริษัทมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย คาดว่ามีรายได้ทั้งปีเกินกว่า 33,000 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้นจากการดำเนินงานประมาณ 10% ตามที่ตั้งเป้าไว้ ทั้งในส่วนของงานก่อสร้าง และงานลงทุนระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และเพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวทางธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะการเปิด AEC ในเดือนธันวาคม 2558 บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน และการลงทุนต่างๆให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ขณะที่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มีความก้าวหน้ากว่า 45% ส่วนโครงการอื่นๆ ก็เป็นไปตามแผนที่ตั้งเป้าไว้ ในส่วนของงานใหม่ที่เป็น Backlog ในปี 2557 ที่ผ่านมา แม้ว่าภาครัฐจะมีโครงการใหม่เกิดขึ้นน้อยมาก บริษัทฯ ยังคงมีงานใหม่จากบริษัทในกลุ่มที่ลงทุนเอง และงานเพิ่มเติมอื่นๆ มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางปะอิน เฟส 2 มูลค่ากว่า 4,600 ล้านบาท งานก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปา มูลค่า 3,500 ล้านบาท และงานก่อสร้างเพิ่มเติมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีเขียว และสีม่วง ประมาณ 2,000 ล้านบาท ทำให้ Backlog สิ้นปีของบริษัทฯ อยู่ที่ 104,928 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือ BECL และ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL ได้มีการเห็นชอบที่จะสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างด้วยการควบรวมบริษัททั้ง 2 เข้าด้วยกัน และการขายหุ้น บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ให้แก่ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่ง และศักยภาพของบริษัทการควบรวมกิจการระหว่าง BECL กับ BMCL จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้ง BMCL และ BECL เพราะจะทำให้บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชน และคมนาคมแบบครบวงจร สามารถขยาย และต่อยอดธุรกิจ มีศักยภาพทางการงิน การดำเนินงาน และการแข่งขันที่แข็งแกร่งขึ้น สามารถลงทุน และแข่งขันได้ทั้งใน และนอกประเทศ
“เชื่อว่าบริษัทใหม่นี้จะทำให้เกิดผลตอบแทนการลงทุนที่ดีมากทั้งในระยะสั้น และระยะยาวแก่ผู้ถือหุ้นทุกราย โดยในส่วนของ ช.การช่าง ยืนยันที่จะเป็นผู้สนับสนุนการควบรวมอย่างเต็มที่ โดยบริษัทจะซื้อหุ้น BMCL ที่ BECL ถืออยู่จำนวน 10% มูลค่า 3,670 ล้านบาท และจะเป็นผู้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านด้วย ภายหลังที่บริษัทใหม่ควบรวมเรียบร้อยแล้ว ช.การช่าง จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ประมาณ 30% ทำให้บริษัทสามารถบันทึกกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทใหม่ได้มากขึ้น และได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดีขึ้นด้วย ในส่วนของการขายหุ้นของ XPCL ให้แก่ CKP เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้แต่เดิมที่จะให้ CKP เป็นเจ้าของโครงการไซยะบุรี เพราะเมื่อโครงการไซยะบุรี มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้มีความเสี่ยงในการดำเนินการลงทุนน้อยลง ช.การช่าง จึงขายหุ้น XPCL ให้ CKP มูลค่ารวม 4,344 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย โดย CKP ถือว่าได้ซื้อโครงการที่มีความสำคัญ และผลตอบแทนการลงทุนที่ดี ไม่ต้องมีภาระการลงทุนที่สูงเกินไป เพราะหากทิ้งไว้จนงานก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการนี้จะมีราคาสูงมาก ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนโครงการที่ CKP จะได้รับต่ำลง ในส่วนของบริษัทสามารถรับรู้กำไรจากการขายหุ้นดังกล่าว และได้รับกระแสเงินสดเข้าสู่บริษัท”
ขณะเดียวกัน ในส่วนของงานก่อสร้างที่ดำเนินการอยู่มีความคืบหน้าไปอย่างมาก ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงสนามไชย-ท่าพระ ซึ่งดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาอุโมงค์แรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มขุดเจาะอุโมงค์ที่ 2 ในเดือนมีนาคม 2558 นี้ โดยรวมมีความก้าวหน้ากว่า 60% โครงการทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก มีความก้าวหน้า 33% คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการได้เร็วกว่ากำหนดในสัญญา โครงการจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ มีความก้าวหน้า 30% โดยรถไฟฟ้าขบวนแรกจะถึงประเทศไทยในปลายปี 2558 ซึ่ง บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในกลางปี 2559 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ในเดือนสิงหาคม 2559
“การปรับโครงสร้างการลงทุนทั้ง 2 ส่วนนี้ ช.การช่าง มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้บริษัทใหม่ที่ควบรวม BMCL และ BECL และ CKP มีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพที่สูงขึ้น สามารถลงทุนดำเนินงานและพัฒนาโครงการอื่นๆ รองรับการเติบโตของตลาดในประเทศ และนอกประเทศ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในระบบขนส่งมวลชน ทั้งทางราง และถนน และธุรกิจพลังงาน ปัจจุบันนี้ ช.การช่าง ร่วมกับบริษัทในกลุ่มทั้งหมด รวมถึง TTW ได้จัดเตรียมความพร้อมทุกด้านไว้ครบถ้วน ทั้งทรัพยากร บุคลากร การเงิน พันธมิตรต่างๆ พร้อมที่จะลงทุนดำเนินการโครงการต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่า และลาว ซึ่งเป็น 2 ประเทศเป้าหมายสำคัญที่มีการเจริญเติบโตของธุรกิจสาธารณูปโภคเป็นอย่างมาก”