xs
xsm
sm
md
lg

รอโอกาส “ประกิต สิริวัฒนเกตุ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากสัปดาห์ที่แล้ว  ที่มีการเขียนถึง การขายคืนหน่วยลงทุน LTF จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่จะทยอยเก็บหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีเข้าพอร์ตการลงทุน เนื่องจากในระยะกลาง-ยาว ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกในเรื่องของ GDP Growth และ EPS Growth ของบริษัทจดทะเบียน ปี 2558 คอยสนับสนุน  ซึ่งจะเป็นหุ้นอะไรนั้นขอมาต่อกันในสัปดาห์นี้นะครับ
 
ในเชิงของปัจจัยพื้นฐานที่รองรับตลาดหุ้นไทย โดยภาพรวมปี 2558 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นจากปี 2557 อย่างชัดเจน เริ่มจากภาพการเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าในปี 2558 จะเติบโตในอัตรา 3.5% เทียบกับปี 2557 ที่คาดว่าเติบโต 0.8% ซึ่งเกิดจากแรงขับเคลื่อนของการลงทุนภาครัฐบาล เฉพาะอย่างยิ่งการเดินหน้าแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาท (ปี 2558-2565) การลงทุนของภาคเอกชนรองรับการเข้าสู่ AEC และการส่งออกที่น่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูว่าการบริโภคของภาคครัวเรือนที่ถือเป็นองค์ประกอบหลักของ GDP จะมีการฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้หรือไม่

  สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยถือว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และอาจมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ประกอบกับความต้องการใช้เม็ดเงินลงทุนในประเทศไทยที่สูงขึ้น ขณะที่สภาพคล่องส่วนเกินในระบบเบาบางลง
ในด้านของ EPS Growth ของบริษัทจดทะเบียนนงวดปี 2557 ที่ผ่านมา ติดลบประมาณ 3% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบันทึกรายการด้อยค่าสินค้าคงเหลือของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ เฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน สำหรับงวดปี 2558 ด้วยฐานกำไรงวดปี 2557 ที่หดตัวและอยู่ในระดับต่ำดังกล่าวมาข้างต้น

ทำให้ฝ่ายวิจัยคาดหมายว่า EPS Growth จะพลิกกลับมาเป็นบวกในอัตรา 16.78% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตโดดเด่น ได้แก่ กลุ่มขนส่งทางอากาศ โดดเด่นที่สุดได้แก่ THAI และ AAV กลุ่มอุตสาหกรรมถัดมาได้แก่กลุ่ม ประกันฯ ซึ่งเป็นการฟื้นตัวของ THRE และ BLA ซึ่งหมดภาระในการบันทึกความเสียหายอันเนื่องมาจากสินไหมทดแทนก้อนใหญ่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอื่นๆ เช่น ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สื่อโฆษณา ค้าปลีก ICT และอาหาร ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดฯ  ที่เด่นชัดได้แก่ พลังาน และ  ธนาคารพาณิชย์ ที่คาดว่า EPS Growth จะอยู่ที่ 13% และ 5% ตามลำดับ

ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวน และมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก รวมทั้งการไถ่ถอน LTF ที่ครบกำหนด 5 ปีปฏิทิน อาจทำให้นักลงทุนบางส่วนที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และต้องการหาแหล่งพักเงิน มีการเปลี่ยนถ่ายไปยังพันธบัตรรัฐบาลที่ไม่มีความเสี่ยงแทน ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้เตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น “สุขกันเถอะเรา” วงเงิน 1 แสนล้านบาท ในช่วงกลางเดือน ม.ค. โดยแบ่งเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ออกเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2558 และพันธบัตรออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ออกเพื่อเพื่อ refinance หนี้ของ ธ.ก.ส. ที่ใช้วงเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินในโครงการรับจำนำข้าว นอกจากนี้ ยังจะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ 2558 ครั้งที่ 1 วงเงิน 4,000 ล้านบาท ที่เปิดจำหน่ายมาแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค.2557 ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา กระทรวงการคลัง มีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อระดมทุนค่อนข้างน้อยผิดปกติ กล่าวคือ ไม่ถึง 1 แสนล้านบาท จึงเชื่อว่าในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ น่าจะมีความจำเป็นต้องระดมเงินทุนเข้ามามากขึ้น รวมทั้งต้องมีการออกพันธบัตรก่อนที่ กนง. จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น

จากข้อมูลในอดีต สังเกตการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือนมกราคมไม่มีรูปแบบที่แน่นอน โดยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการซื้อสุทธิเข้ามา 11 ปี ส่วนอีก 9 ปี เป็นการขายสุทธิ ด้วยมูลค่าเฉลี่ย 4.51 พันล้านบาท ซึ่งหากพิจารณา 10 ปีหลังสุด เป็นการซื้อ และขายอย่างละเท่าๆ กันคือ ซื้อ 5 ปี และขาย 5 ปี ด้วยมูลค่าเฉลี่ย 6.34 พันล้านบาท จึงคาดว่าในเดือนมกราคมปีนี้นักลงทุนต่างชาติจะยังคงซื้อขายด้วยปริมาณเบาบางต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้วเช่นเดิม หลังจากที่มียอดซื้อสุทธิสะสมนับตั้งแต่ปี 2552 ที่ราคาตลาดเหลืออยู่ที่ราว 4.5 หมื่นล้านบาท
 
นอกจากนี้ กระแสเงินทุนที่เหือดแห้งไปหลังจากสหรัฐยุติมาตรการ QE ไปเมื่อปลายเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว แม้ว่าปัจจุบันจะยังมีการอัดฉีดเม็ดเงินในมาตรการ QE ของประเทศอังกฤษ (วงเงิน 3.75 แสนล้านปอนด์) และญี่ปุ่น (ขยายฐานเงินเป็น 70-80 ล้านล้านเยนต่อปี) รวมทั้ง ECB ที่มีแผนจะเริ่มมาตรการ QE ฉบับยุโรป ผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจ (คาดว่าวงเงินอาจสูงถึง 1 ล้านล้านยูโร) แต่เม็ดเงินดังกล่าวก็ยังคงหมุนเวียนอยู่ในแต่ละภูมิภาคเป็นหลัก อีกทั้งโครงสร้างผู้ถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย (ข้อมูล ณ ธ.ค.2557) พบว่า นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในตลาดหุ้นไทยเพียง 29% โดยชาติที่ถือหุ้นไทยมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สหราชอาณาจักร (ส่วนใหญ่เป็นอังกฤษ) คิดเป็น 34% รองลงมาคือ สิงคโปร์ และสหรัฐฯ คิดเป็น 20% และ 8% ของนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นไทย ตามลำดับ สำหรับกลุ่มฯ ที่นักลงทุนต่างชาติถือครองมากที่สุด คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ 27% รองลงมาคือ ไอซีที 17.7% และพลังงาน 13.2% จึงเชื่อว่าเม็ดเงินจากการอัดฉีดเม็ดเงินไม่น่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยในระยะนี้

หลังการประกาศงบการเงินงวดปี 2557 (ในช่วงปลายเดือน ก.พ.-ต้น มี.ค.2558) ก็จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลของการประกาศจ่ายเงินปันผล (ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2558) ซึ่งหากวัดช่วงระยะเวลาจากปัจจุบันไปจนถึงจุดนั้น ก็จะเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนถือครองหุ้นเพียง 4-5 เดือน และหากลงทุนในหุ้นที่ให้ Dividend Yield สูง ก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ในการคัดกรองหุ้นปันผลสำหรับการลงทุน ฝ่ายวิจัยจะให้ความสำคัญไปที่หุ้นที่จ่ายเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง เป็นหลัก เนื่องจากจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนในช่วง 4-5 เดือนข้างหน้า หากคิดเป็นอัตรารายปี (Annualize) อาจมากกว่า 10% ซึ่งจะอยู่ระดับที่สูงกว่าหุ้นที่จ่ายเงินปันผลมากกว่า 1 ครั้งต่อปี
สำหรับหุ้นที่มีการจ่ายปันผลปีละ 1 ครั้ง มี Div.Yield ประมาณ 4% ขึ้นไป และแนะนำ ซื้อ ฝ่ายวิจัยได้คัดกรองหุ้นที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาดังตารางด้านล่าง หุ้นเด่นที่แนะนำ เช่น

STPI (FV@B 30.30) เพราะนอกจากจะให้ Dividend Yield สูงแล้ว ช่วงต้นปี 2558 ราคาหุ้นยังอาจได้อานิสงส์จากการเซ็นสัญญารับค่าเร่งงาน ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามรายได้ที่สูงขึ้น

KTB (FV@B 29.16) คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 เติบโต 15.4%yoy สินเชื่อสุทธิเติบโต 1.5 เท่าของ GDP รวมทั้งความต้องการสินเชื่อสำหรับโครงการใหม่ๆ ของภาครัฐและเอกชนที่จะเริ่มเห็นการลงทุนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

DELTA (FV@B 78) โดดเด่นจากแนวโน้มกำไรปี 2558 ทำ New High ต่อเนื่อง เติบโต 16.4%yoy จากผลิตภัณฑ์ Data center และกลุ่ม Automotive ที่ฟื้นตัว
TMT (FV@B 12.18) ยังเป็นหุ้นปันผลเด่นเหมาะแก่การลงทุนระยะยาว โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐจะช่วยหนุนให้ภาคก่อสร้างในประเทศกลับมาคึกคัก และส่งผลบวกต่อการบริโภคเหล็กโดยรวมให้สูงขึ้น

SC (FV@B 4.19) ยังเน้นที่การโอนฯ คอนโดมิเนียมต่อเนื่อง และสร้างยอดขายใหม่ของโครงการแนวราบ โดยคาดว่ายอดขายโครงการแนวราบกว่าในงวด 4Q57 จะสูงถึง 1000 ล้านบาท/เดือน

SITHAI (FV@B 3.4) วางแผนธุรกิจชัดเจนในปี 2558 โดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าทั้งรายใหญ่ในประเทศ และต่างประเทศ หนุนกำไรเติบโตถึง 22.3%yoy
 
ประกิต  สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส
Prakit Siriwattanaket
Strategist and Technical Analyst
ASIA PLUS SECURITIES PUBLIC CO LTD
email prakit@asiaplus.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น