ผลการประชุม FOMC คืนวันที่ 29 ตุลาคม 2557 แม้ว่าจะเป็นไปตามที่ตลาดคาดกันเอาไว้ แต่ในถ้อยแถลงสรุปผลการประชุมของ Fed มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนเดิม และเหมือนว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณเตือนให้ตลาดต้องเริ่มระวังตัวกันแล้ว ซึ่ง***สาระสำคัญของการประชุม FOMC จะมีดังนี้
1.ตัดมาตรการ QE วงเงิน 1.5 หมื่นล้านเหรียญต่อเดือนลง เท่ากับเป็นการยุติ QE ที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 6 ปี
ความเห็น : การยุติ QE เป็นสิ่งที่ตลาดคาดหมายไว้อยู่แล้ว และดัชนีหุ้นทั่วโลกก็มีการปรับลดลงรับเรื่องนี้ไปตั้งแต่ช่วง 19 ก.ย.-15 ต.ค.57 สิ่งที่ต้องติดตามก็คือปริมาณเงินในระบบ (Money Supply) หลังจากที่ไม่มี QE จากสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรต่อไป เบื้องต้นแม้ว่า Fed จะยังคงยืนยันที่จะไม่รีบเร่งลดขนาด งบดุลที่โป่งพองถึง 4.43 ล้านล้านดอลลาร์ (งบดุลของ Fed เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวจากการใช้มาตรการ QE เข้าซื้อ MBS และ Treasury ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา) โดยพร้อมที่จะทำการซื้อพันธบัตรรุ่นใหม่เพื่อมาชดเชยตัวเก่าที่หมดอายุลง (Reinvestment) ซึ่งวิธีการนี้จะรักษาให้งบดุลของ Fed และปริมาณเงินในระบบอยู่ใกล้เคียงเดิม แต่ปริมาณเงินในระบบที่ขึ้นมาถึงจุด Peak ได้ส่งผลให้สินทรัพย์ทั่วโลกล้วนขึ้นมาถึงจุดอิ่มตัว จะให้ขึ้นมากกว่าปัจจุบันก็ต้องมีเงินใหม่เข้ามาเติม ซึ่งก็คงต้องหวังจากการประชุมของ ECB ในวันที่ 2-3 พ.ย.57 ว่าจะมีการขยายการเข้าซื้อ ABS และ Covered Bond หรือไม่ ถ้า ECB เอาจริงก็จะเป็นการต่ออายุให้แก่สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก
2.Fed ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ใน 0-0.25% ต่อไปตามเวลาที่เหมาะสม (considerable time)
ความเห็น : เหมือนจะไม่มีอะไรสำหรับการคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป แต่การที่ Fed ระบุว่า จะพิจารณาการขึ้นดอกเบี้ยจากข้อมูลทางเศรษฐกิจหลายๆ ด้าน โดยมีการพูดถึงโอกาสในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สามารถเพิ่มเร็วกว่ากำหนดเดิม ถ้าอัตราการว่างงานเข้าสู่ระดับเป้าหมาย และ Stable Price แต่ถ้าหากตรงกันข้าม ก็จะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป ตรงนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนกลายๆ แล้วว่า Fed สามารถที่จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วได้ตลอดเวลา หาก Fed เห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นที่น่าพอใจ เท่ากับว่านับจากนี้เราจะต้องอกสั่นขวัญแขวนต่อการประชุม FOMC ในครั้งถัดๆไป โดยเฉพาะรอบการประชุมตั้งแต่ 19 มี.ค.58 เป็นต้นไป (รอบการประชุมที่ Fed มีโอกาสตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยคือ 19 มี.ค. 30 เม.ย. 18 มิ.ย. 30 ก.ค. 18 ก.ย. Consensus มองว่า 30 ก.ค. และ 18 ก.ย. มีโอกาสมากที่สุด)
3.Fed มีมุมมองต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดีขึ้นขึ้นจากเดิม
ความเห็น : Fed มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายต่อในระดับปานกลาง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มลดลง และ Fed ยอมรับว่าตลาดแรงงานมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นเป็นครั้งแรกที่ Fed มองแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดแรงงานดีขึ้น ขณะที่ Fed ไม่ได้กังวลใจต่อระดับเงินเฟ้อล่าสุดที่ 1.7% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% เนื่องจาก Fed มองว่าเป็นผลจากราคาพลังงานที่ต่ำลง และคาดว่าเงินเฟ้อจะสามารถเพิ่มขึ้นได้ไม่ช้า
โดยสรุปผลการประชุมรอบนี้ Fed มีมุมมองต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดีขึ้นกว่าเดิมมาก และพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยหากตลาดแรงงานมีพัฒนาการเชิงบวกต่อเนื่อง โดยไม่ได้กังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ การมองดีที่แตกต่างไปจากเดิมแบบนี้ เชื่อว่าจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนมากขึ้น สิ่งที่ต้องติดตามต่อนับจากนี้ก็คือ Fed จะจัดการอย่างไรกับงบดุลขนาดใหญ่ 4.43 ล้านล้านดอลลาร์ แม้ว่า Fed จะเคยบอกว่า จะทำการ Reinvestment ไปเรื่อยๆ และจะไม่ขาย MBS และ Treasury ก่อนที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ย โดยจะค่อยๆ ปรับขนาดงบดุลสู่ระดับที่เหมาะสมภายใน 10 ปี แต่ถ้าหาก Fed เปลี่ยนใจ ทำการระบายสินทรัพยืออกมาก็เท่ากับเป็นการดูดสภาพคล่องกลับ สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกก็อาจผันผวนจนซึมยาวได้
ส่วนตัวผมมองว่ามีโอกาสสูงที่ Fed จะทำการระบายสินทรัพย์ออกมาก่อนที่จะขึ้นดอกเบี้ย เพราะถ้าขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ราคา Treasury ที่ Fed ถืออยู่จะตกฮวบฮาบ เช่นเดียวกับ MBS ก็อาจจะตกตามราคาบ้าน ที่น่าจะปรับลดลงหลังจากมีการขึ้นดอกเบี้ย สภาพคล่องที่จะหายไปจากเงินที่ถูกดูดกลับผ่านการระบายสินทรัพย์ของ Fed จะทำให้ปีหน้าเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการลงทุนสุดๆ 6 ปีที่สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกได้รับการอุ่มชูจากเม็ดเงินของ Fed ที่โปรยสู่ทั่วโลก กำลังจะหมดไป คำถามคือ เราเตรียมพร้อมในการรับมือต่อสิ่งที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วหรือยัง
ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส
Prakit Siriwattanaket
Strategist and Technical Analyst
ASIA PLUS SECURITIES PUBLIC CO LTD
email prakit@asiaplus.co.th