xs
xsm
sm
md
lg

ปรับหมากกลยุทธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คาดเลือกตั้งได้ปลายปี 2558 ... ตลาดดูดซับความคาดหวังเชิงบวกไปแล้ว

นับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 (SET Index 1,405.21) ซึ่งเป็นวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ SET Index ได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 8% ซึ่งอธิบายได้ว่า เป็นการตอบรับความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดเหตุรุนแรงทางการเมืองที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การปรับตัวขึ้นมาดังกล่าวทำให้ค่า Current PER ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมายืนอยู่เหนือ 16 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าปกติ และอาจทำให้เกิดการปรับฐานได้ตลอดเวลา สำหรับผลกระทบจากปัจจัยการเมือง ต่อ SET Index ในช่วงเวลาจากนี้ไป คาดว่าจะเป็นการตอบสนองไปตามความคืบหน้าในการดำเนินกระบวนการต่างๆ ของโรดแมประยะที่ 2 ของ คสช. ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยจะมีหลายสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

การแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีจำนวนไม่เกิน 220 คน มาจากการคัดเลือกของ คสช. เป็นหลัก ซึ่งตามกำหนดการน่าจะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในช่วงปลายเดือน ก.ค. หรือต้น ส.ค.2557 โดย สนช. จะทำหน้าที่แทน สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา และรัฐสภา หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ การพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่จะขึ้นมาทำหน้าที่ นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะทำหน้าที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ประเด็นที่ต้องติดตามคือ โครงสร้างของ สนช. จะมีสัดส่วนที่มาจากองค์กรต่างๆ เท่าใด ซึ่งอาจเกิดกระแสวิจารณ์ตามมา  และส่งผลกระทบต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของ SET Index ในที่สุด

การจัดตั้งรัฐบาล หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกิดขึ้นแล้ว คาดว่าในช่วงกลางเดือน ส.ค.2557 น่าจะมีการเปิดการประชุม ซึ่งวาระสำคัญประการหนึ่งคือ การเสนอชื่อบุคคลที่จะขึ้นมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวก็น่าจะมีการคาดการณ์กันว่า จะมีรายชื่อใครถูกกล่าวถึงบ้าง เมื่อได้บุคคลที่จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี และได้รับโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ก็จะเป็นการขั้นตอนของการแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยตรง ทั้งนี้ จำนวนรัฐมนตรีจะมีได้ไม่เกิน 35 คน (ไม่รวมนายกรัฐมนตรี) ซึ่งก็เชื่อได้ว่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปที่ตัวบุคคล เฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็อาจจะมีผลกระทบต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของ SET Index

การแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีจำนวนสมาชิกไม่เกิน 250 คน โดยที่มาจะมีความซับซ้อนกว่า สนช. กล่าวคือ เป็นการเสนอรายชื่อจากองค์กรวิชาชีพต่างๆ และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร รวมถึงตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ โดยมีกระบวนการคัดกรองหลายชั้น จนมาถึง คสช. ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะได้รายชื่อบุคคลที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก สปช. ในช่วงต้นเดือน ต.ค.2557 โดยที่ สปช. จะมีหน้าที่หลักในการเสนอแนะความเห็นต่อการปฏิรูปประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 11 กลุ่มหลัก หลังจากนั้น จะเสนอความเห็นต่อ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากวันที่มีการประชุม สปช. ครั้งแรก เพื่อเป็นแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อร่างแล้วเสร็จ สปช. ก็จะมีหน้าที่ในการพิจารณาเห็นชอบ หรือให้ทำการปรับปรุงแก้ไข โดยที่จะไม่มีการทำประชามติเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550

การตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีจำนวนสมาชิก 36 คน โดย คสช. จะเป็นผู้เสนอรายชื่อ ประธานกรรมาธิการ ส่วนสมาชิกอีก 35 คน จะมาจากผู้ซึ่ง สปช. เสนอ 20 คน  ผู้ที่ถูกเสนอรายชื่อโดย สนช., คณะรัฐมนตรี และ คสช. อีกฝ่ายละ 5 คน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดให้การแต่งตั้งกรรมาธิการฯ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เรียกประชุม สปช. เป็นครั้งแรก ส่วนกรอบเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดให้ต้องดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับจากที่ได้รับความเห็น หรือข้อเสนอแนะจาก สปช. เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้ส่งให้ สปช. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน นับแต่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าต้องปรับปรุงแก้ไขต้องดำเนินการภายใน 30 วัน หลังจาก สปช. พิจารณาแล้วเสร็จ พร้อมกันนี้ คสช. และคณะรัฐมนตรี ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับร่าง (คสช. และคณะรัฐมนตรี ได้รับร่าง พร้อมๆ กับ สปช.) เมื่อกรรมาธิการฯ ได้รับคำขอแก้ไขแล้ว ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เมื่อแล้วเสร็จให้นำส่ง สปช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ภายใน 15 วัน โดยที่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเนื้อหาได้อีก หากให้ความเห็นชอบก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 30 วัน  เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

พิจารณาจากกระบวนการทั้งหมดแล้วคาดว่า เร็วที่สุดที่รัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ น่าจะเป็นช่วงกลางเดือน ก.ย.2558 หลังจากนั้น ก็จะเข้าสู่โรดแมประยะที่ 3 คือ การเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งอาจกินระยะเวลาอีกประมาณ 2 เดือน เมื่อการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ก็จะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติเลือกบุคคลที่จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี  และการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปได้ที่จะเห็นรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ช่วงต้นปี 2559

จากกระบวนการต่างๆ ที่ได้กล่าวมาในข้างต้น จะเห็นได้ว่า เป็นปัจจัยที่จะมีผลต่อตลาดตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ส่วนภาพระยะสั้นในช่วงสัปดาห์ข้างหน้านี้ ยังต้องระวังแรงขายของสถาบันในประเทศเป็นหลัก   โดยสถาบันในประเทศขายอย่างต่อเนื่องกว่า 10 วันจากใน 12 วันล่าสุด กว่า 1.54 หมื่นล้านบาท  และมีโอกาสสูงมากที่จะขายกดลงมาอีก ด้วยเพราะ 1) สถาบันมีทุนเฉลี่ยจากการเข้าซื้อตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบัน ที่ค่อนข้างต่ำเพียง 1,375 จุด และ 2) สถาบันในประเทศยังเหลือหุ้นพร้อมขายอยู่อีกเป็นจำนวนมาก หากดูจากยอดซื้อสุทธิตั้งแต่ต้นปี 2557-ปัจจุบัน เหลือกว่า 2.75 หมื่นล้านบาท ซึ่งสถานะปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นกำไรกว่า 15% เมื่อคิดเทียบเป็นราคาตลาดที่ยอดซื้อปัจจุบันจะมีมูลค่าราว 3.17 หมื่นล้านบาท นอกจากส่วนที่ซื้อมาตั้งแต่ต้นปีที่ต้องระมัดระวังแล้ว ก้อนที่ซื้อมาเมื่อปีที่แล้วก็ยิ่งต้องระวังให้มากเช่นกัน โดยปี 2556-ปัจจุบัน สถาบันในประเทศซื้อสุทธิสะสมกว่า 1.35 แสนล้านบาท ด้วยทุนเฉลี่ย 1,430 จุด หากคิดตามมูลค่าตลาดยอดซื้อดังกล่าวจะมีมูลค่าเป็น 1.44 แสนล้านบาท หรือมีกำไรกว่า 6.57%

ส่วนการขายของนักลงทุนต่างประเทศในช่วง 2 วันที่ผ่านมา (26-27 ก.ค.2557) 3.4 พันล้านบาท หากไม่นับรวมดีล Big Lot หุ้น SIM 2.87 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2557 น่าจะทำให้เหลือยอดขายสุทธิเพียง 5.8 ร้อยกว่าล้านบาทเท่านั้น โดยแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศในรอบนี้ เบื้องต้นน่าจะเป็นเพียงแค่การสลับมาขาย หลังจากซื้อต่อเนื่องในช่วง 27 มิ.ย.2557-28 ก.ค.2557 กว่า 2.26 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติไม่น่าจะขายต่อเนื่องรุนแรงมากนัก*** ด้วยเพราะทุนเฉลี่ย SET Index ที่เข้าซื้อในช่วง 27 มิ.ย.2557-28 ก.ค.2557 อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่า 1,513 จุด กระนั้นก็ประมาทไม่ได้ เนื่องด้วยค่าเงินบาทวานนี้ (31 ก.ค.) อ่อนค่าจากจุดต่ำสุดกว่า 1.2% จนทำให้ค่าเงินดีดกลับจาก 31.74 สู่ 32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต้องจับตาดูอีกสักระยะว่าจะอ่อนค่าต่อเนื่องหรือไม่ หากยังอ่อนค่าต่อเนื่องอาจทำให้ตลาดกังวลถึงการไหลของ Fund Flow ได้*** ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนมากนัก นักลงทุนต่างประเทศยังคงซื้อในตราสารหนี้อีก 6.1 พันล้านบาท โดยเป็นการซื้อ 20 จากใน 21 วันล่าสุดกว่า 1.79 แสนล้านบาท เป็นปริมาณการซื้อสะสม 20 วันที่มากที่สุดในรอบปี

ประกิต  สิริวัฒนเกตุ
Prakit Siriwattanaket
Strategist and Technical Analyst
ASIA PLUS SECURITIES PUBLIC CO LTD
email prakit@asiaplus.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น