xs
xsm
sm
md
lg

ปรับหมากกลยุทธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2557 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 2 เดือน ของการเข้าควบคุมการบริหารราชการของ คสช. ได้มีการลงประกาศรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ หลังจากนี้ จะเห็นความคืบหน้าของการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งน่าจะมีลำดับดังนี้

1. การแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนสมาชิก 220 คน โดยที่หัวหน้า คสช. จะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่ตั้งสมาชิก สภานิตบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภา และรองประธานสภา ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะทำหน้าที่เสมือนสภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา และรัฐสภา กล่าวคือ ทำหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายต่างๆ นอกจากนี้ ยังจะทำหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี โดยที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ทั้งนี้ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

2.  การจัดตั้งรัฐบาล เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้ว นายกรัฐมนตรี จะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีอีก ไม่เกิน 35 คน

3.  การจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีจำนวนสมาชิกไม่เกิน 250 คน โดยที่ พระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้ง ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถวายคำแนะนำ ทั้งนี้ สภาปฏิรูปจะมีหน้าที่หลักในการเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ สภาปฏิรูปฯ ต้องเสนอความเห็นดังกล่าวภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการประชุมครั้งแรก และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ สภาปฏิรูปพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือ ให้ทำการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมตามสมควร

4. การจัดตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะมีจำนวนสมาชิก 36 คน แต่งตั้งโดย สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งต้องดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่มีการเรียกประชุมครั้งแรก โดยกรรมาธิการจะมีองค์ประกอบมาจากผู้ที่สภาปฏิรูปเสนอ 20 คน, ผู้ที่ สนช. คณะรัฐมนตรี และ คสช. เสนอ ฝ่ายละ 5 คน ส่วนประธาน จะถูกเสนอชื่อโดย คสช.

การก้าวเข้าสู่ระยะที่ 2 ในโรดแมปของ คสช. ซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) มีผลบังคับใช้ ถือเป็นช่วงเวลาที่มีภารกิจที่ต้องดำเนินการมากที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งในหลายกรณีจำเป็นต้องดำเนินการโดยวิธีการพิเศษ และยิ่งไปกว่านั้น โดยธรรมชาติในช่วงของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละเรื่อง ก็ย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ดังนั้น จากนี้ไปจะเห็นการดำเนินการ ควบคู่ไปกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่างๆ เริ่มจากการวิจารณ์รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ในบางมาตรา เช่น มาตรา 44 ซึ่งเสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นมาตราที่ให้อำนาจ คสช. มากเกินไป

ส่วนการเดินหน้ากระบวนการตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ขั้นแรกเป็นการแต่งตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งก็คาดหมายได้ว่าน่าจะเกิดเสียงวิจารณ์ในเชิงโครงสร้างว่า มาจากบุคลากรในฝ่ายใดมากน้อยเท่าใด โดยคงหนีไม่พ้นข้อกล่าวหาว่ายังเป็นการรักษาไว้ซึ่งอำนาจของ คสช. ถัดมาจะเป็นการแต่งตั้งรัฐบาล โดยที่ สนช. เป็นผู้เสนอชื่อ ซึ่งก็คาดหมายว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาเช่นกัน

ภาพของการจัดตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาล ถ้าบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ใน สนช. และบุคคลที่จะเข้ามาเป็น นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี มีความเหมาะสม และเป็นที่ยอมรับในสังคม ก็เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ กระแสเงินลงทุน (Fund Flow) น่าจะไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะการไหลเข้ามาผ่านการลงทุนทางตรง และผ่านการลงทุนยังตราสารต่างๆ เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้ เป็นต้น

สัญญาณของเงินทุนไหลเข้าเริ่มมีมาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ 27 มิ.ย.2557-ปัจจุบัน นักลงทุนต่างประเทศเข้าซื้อสุทธิในตราสารทุนกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท พร้อมๆกับซื้อในตรสารหนี้กว่า 1.52 แสนล้านบาท กดดันค่าเงินบาทต้องแข็งค่าลงมาราว 2% จนต่ำกว่า 31.9 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 9 เดือนด้วยกัน  

ปริมาณเงินที่ไหลกลับมายังตลาดทุนไทยยังค่อนข้างน้อยหากเทียบกับที่ไหลออกไป ในช่วง ก.พ.2556-พ.ค.2557 กว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งหากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ยังคงเป็นไปในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศดังที่กล่าวไว้ข้างต้น  หรือปัจจัยต่างประเทศ ปริมาณเงินในระบบที่ยังคงอยู่ในระดับสูง จากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการออกมาตรการผ่อนคลายด้านการเงินต่างๆ ของ ธนาคารกลางยุโรป (ECB)  ชดเชยกับการลดขนาด QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)  ขณะที่ระยะสั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อไป เหล่านี้ล้วนเป็นผลดีที่จะทำให้ Fund Flow ไหลเข้ามาในประเทศ ซึ่งถ้ากระแสที่เข้ามามีความต่อเนื่อง SET Index ที่กำลังอยู่ใกล้บริเวณ Expected PER ณ สิ้นปี 2557 ที่ 16 เท่า ก็มีโอกาสที่จะเกิดการขยับฐาน หรือ Relate PER สู่ 17 เท่าที่ 1,670 จุดได้

ปรับหมากกลยุทธ์  
ประกิต  สิริวัฒนเกตุ
Prakit Siriwattanaket
Strategist and Technical Analyst
ASIA PLUS SECURITIES PUBLIC CO LTD
email prakit@asiaplus.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น