ปรับหมากกลยุทธ์ โดยประกิต สิริวัฒนเกตุ
สิ่งที่ทำให้นักลงทุนในตลาดหันมาให้ความสนใจต่อการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 2 ต.ค.57 นี้ ดูเหมือนว่าจะเริ่มมาจากเมื่อวันที่ 18 ก.ย.57 ECB ได้มีการเปิดเผยว่าได้จัดสรรวงเงินกู้รอบแรกตามโปรแกรม TLTRO (LTRO 3& 4) ออกไปน้อยกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ โดยมีธนาคารพาณิชย์มาขอกู้เพียง 225 ราย รวม 8.26 หมื่นล้านยูโร ซึ่งการจัดสรรเงินกู้รอบนี้ถือเป็น รอบแรกใน 8 รอบ ของโปรแกรม TLTRO ที่จะแบ่งการจัดสรรเป็น 2 ชุด คือ LTRO 3 วงเงินประมาณ 4 แสนล้านยูโร และ LTRO 4 วงเงิน 4.7 แสนล้านยูโร โดย LTRO ได้จัดสรรไปแล้วเมื่อ 18 ก.ย.57 และจะจัดสรรอีกครั้งในเดือน ธ.ค.57 ซึ่งECB คาดว่าน่าจะมีธนาคารฯมาขอกู้มากขึ้น และน่าจะจัดสรรวงเงินได้ถึง 1.2 - 1.8 แสนล้านยูโร ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 6 แสนล้านยูโรน่าจะระบายได้ในการจัดสรรอีก 6 รอบจนไปถึงปี 2559
มีการคาดกันว่าวงเงินที่ปล่อยออกไปรอบแรก 8.26 หมื่นล้านยูโร ทำให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินไม่ถึง 1.5 หมื่นล้านยูโร ซึ่งเป็นสิ่งที่ ECB ค่อนข้างผิดหวังมาก แม้ว่า ECB จะมีความคาดหวังที่จะเห็นการจัดสรรในรอบถัดๆไป อาจได้รับการตอบรับจากบรรดาธนาคารฯที่ดีมากขึ้น แต่การที่ ECB ยังคงเงื่อนไขในการขอกู้ โดยให้ธนาคารและกลุ่มของธนาคารที่ได้รับเงินกู้ 2 งวดแรก (เดือน ก.ย. และ ธ.ค. 2557) สามารถปล่อยกู้ในภาคการผลิตและภาคเอกชนได้เพียง 7% ของเงินที่ได้รับ (ไม่รวมเงินกู้ปล่อยซื้อบ้าน) เงื่อนไขดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารฯไม่ให้ความสนใจต่อ LTRO เท่าไหร่นัก
นอกจาก LTRO จะได้รับการตอบรับน้อยแล้ว สภาพส่วนเกินที่จะเกิดขึ้น อาจไม่ได้ส่งผลต่อตลาดทุนมากนัก เนื่องจากวงเงินกู้ดังกล่าวธนาคารพาณิชย์ที่จะขอกู้ต้องมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากการอัดฉีดเงินเข้าระบบโดยตรงแบบ QE ของ FED ตรงนี้จึงอาจทำให้ ECB ต้องเบนเข็มและใช้เครื่องมืออื่นที่สามารถอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยตรงได้
อีกปัจจัยหนึ่งเป็นตัวกดดัน ECB คือรายงานดัชนี PMI รวมภาคการผลิต และบริโภค เดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 52.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น เดือน ก.ย. ขยายตัวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และดัชนี PMI ภาคบริการ ขยายตัวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน กดดันให้อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงถึง 11.5% และอัตราเงินเฟ้อต่ำ 0.3% ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
เหล่านี้ล้วนทำให้ตลาดมองกันแล้วว่า ECB ต้องมีจัดมาตรการแรงๆออกมา เช่น การเข้าซื้อ ABS (หลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ต้ำประกัน) และการทำ Covered Bond (ซื้อหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่ออสังหาฯค้ำประกัน) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ECB จะเริ่มเข้าซื้อ ABS ด้วยวงเงิน 2.5 แสนล้านยูโร และ Covered Bond 1.6 แสนล้านยูโร
หาก ECB ดำเนินการซื้อ ABS และ Covered Bond ตามที่ตลาดมองไว้จริง ปริมาณเงินในระบบที่จะเพิ่มขึ้น จะทำให้ Euro ต้องอ่อนค่าในระยะสั้นแน่นอน ซึ่งตอนนี้ อัตราแลกเปลี่ยนก็มีปฎิกิริยาสะท้อนต่อความคาดหวังดังกล่าวแล้ว โดย US Dollar แข็งค่าในรอบ 2 สัปดาห์ทีผ่านมากว่า 1% จนแตะระดับ 85 จุด ส่วนสกุล EURO อ่อนค่ายวบกว่า 1.3% ในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์ เท่ากับว่าตลาดเชื่อแน่นอนไปแล้วว่า ECB จะเอาจริงแน่ในการประชุมรอบนี้
การอ่อนค่าของ EURO บวกการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ และการอัดฉัดเงินเข้าสู่ระบบของ ECB อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิด EURO Carry Trade ซึ่งตลาด Emerging Market ในเอเชีย น่าจะเป็นเป้าหมายของการลงทุน
ส่วนตัวเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น ไทย แม้ว่า QE จะยุติลง และทำให้ตลาดอาจมีความผันผวน ในเดือน ต.ค.57 แต่หลังจากนั้น กระแสของ EURO Carry Trade และ Yen Carry Trade น่าจะเป็นตัวหนุนตลาดขึ้นมาได้อีกครั้ง
ประกิต สิริวัฒนเกตุ
Prakit Siriwattanaket
Strategist and Technical Analyst
ASIA PLUS SECURITIES PUBLIC CO LTD
email prakit@asiaplus.co.th