xs
xsm
sm
md
lg

อย่าประมาทการไถ่ถอน LTF “ประกิต สิริวัฒนเกตุ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันกองทุน LTF มีอยู่ทั้งสิ้น 53 กองทุน ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม 19 แห่ง มีมูลค่า NAV รวม ณ สิ้นเดือน พ.ย.2557 อยู่ที่ 2.56 แสนล้าน โดยที่ทุกปีจะมียอดซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มสูงกว่ายอดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนมาโดยตลอด ประกอบกับ SET Index ที่ปรับตัวขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ขนาด NAV ของ LTF เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยหากพิจารณาในงวดปี 2554 จนถึง 2556 พบว่า มียอดซื้อหน่วยลงทุนเฉลี่ยปีละ 4.25 หมื่นล้านบาท และมียอดขายคืนหน่วยลงทุนเฉลี่ยปีละ 2.78 หมื่นล้านบาท สำหรับงวดปี 2557 ที่ผ่านมา แม้ช่วง 10 เดือนแรกของปีจะมียอดซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเพียง 1.86 หมื่นล้านบาท แต่โดยภาพรวมทั้งปีก็น่าจะมียอดซื้อหน่วยลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยส่วนที่เหลือจะเป็นการซื้อในช่วงเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งก็น่าจะทำให้ NAV รวมของ LTF เพิ่มขึ้นจนเข้าใกล้ 2.8 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 แต่ก็น่าจะกลับลดลงมาอีกครั้งหลังหักส่วนที่จะถูกไถ่ถอนออกไปช่วงต้นปี 2558

ภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมาย กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่ครอง LTF มาจนครบ 5 ปีปฏิทิน หรือมากกว่าสามารถที่จะนำหน่วยลงทุนออกมาขายคืนได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามเดิม อีกทั้งกำไรที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวขึ้นไปของราคา (Capital Gain) ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจากการศึกษาของฝ่ายวิจัยพบว่า การขายคืนหน่วยลงทุน LTF มักจะเกิดขึ้นทุกปี เฉพาะอย่างยิ่งช่วงไตรมาสที่ 1 ของแต่ละปี

ฝ่ายวิจัย ASP ได้ทำการศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมการไถ่ถอนคืนหน่วยลงทุน LTF พบว่า ณ ต้นปี 2558 จะมีหน่วยลงทุนใน LTF มูลค่าประมาณ 1.41 แสนล้านบาท ที่ถือมาจนครบเงื่อนไข 5 ปีปฏิทิน หรือมากกว่า ซึ่งหน่วยลงทุนดังกล่าวสามารถที่จะนำออกมาขายคืนได้โดยที่ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนเดิม ทั้งนี้ มูลค่าหน่วยลงทุนที่ถือครองครบเงื่อนไข ณ ต้นปี 2558 ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากสถานะเมื่อต้นปี 2557 ซึ่งมีหน่วยลงทุนที่ถือครองครบเงื่อนไข 7.91 หมื่นล้านบาท และเมื่อต้นปี 2556 ที่มีมูลค่า 5.16 หมื่นล้านบาท การมีสถานะดังกล่าวอยู่ในระดับสูงถือเป็นความเสี่ยงประการหนึ่งสำหรับ SET Index เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาส 1 เนื่องจากข้อมูลสถิติตามที่ฝ่ายวิจัยศึกษามาพบว่า จะเป็นช่วงเวลาที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนมากที่สุด โดยมีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 33% ของมูลค่าหน่วยลงทุนที่ถือจนครบที่จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามเงื่อนไข

รูปแบบการขายคืนหน่วยลงทุนในช่วงเวลาต่างๆ ของปีเห็นได้ขัดเจนว่า จะมียอดสูงที่สุดในเดือน มกราคม ตามด้วยเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม หลังจากนั้นก็จะเบาบางลง และไปสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเดือนธันวาคม ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการไถ่ถอน LTF ล๊อตที่ครบกำหนด 5 ปีปฏิทิน แล้วนำเงินไปซื้อหน่วยลงทุน LTF ชุดใหม่เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่หากนับเฉพาะในงวดไตรมาสที่ 1 ของแต่ละปี พบว่า มีสัดส่วนการขายคืนหน่วยลงทุนคิดเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 10% จนถึงเกือบ 70% ของมูลค่าหน่วยลงทุนที่ถือจนครบเกณฑ์ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่หากคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยในช่วงตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2557 พบว่า มีอัตราการขายถืนหน่วยลงทุนเฉลี่ย 33% ของมูลค่าหน่วยที่ครบเกณฑ์ฯ ในงวดไตรมาสที่ 1

หากคำนวณบนฐานข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น คือ มูลค่าหน่วยลงทุนที่ครบเกณฑ์ฯ ณ ต้นปี 2558 ที่ 1.41 แสนล้านบาท และกำหนดให้มีอัตราการขายคืนหน่วยลงทุน 33% ในงวดไตรมาสที่ 1 ก็จะได้ตัวเลขในเบื้องต้นออกมาว่า มูลค่าการขายคืนหน่วยลงทุนน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4.65 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีการขายคืนหน่วยลงทุน LTF 4.65 หมื่นล้านบาท จะทำให้นักลงทุนสถาบันในประเทศต้องมีการขายสุทธิออกมาสู่ตลาดหุ้นในอัตราเดียวกัน เนื่องจากผู้จัดการกองทุนบางส่วนอาจได้มีการสำรองเงินสดไว้ในระดับที่เพียงพอรองรับการขายคืนหน่วยลงทุนแล้วก็ได้ ซึ่งจากการประเมินข้อมูลการซื้อ/ขาย สุทธิของนักลงทุนสถาบันรายเดือนย้อนหลัง พบว่า เดือนที่นักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดขายสุทธิออกมามากที่สุดกลับเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการขายคืนหน่วยลงทุน LTF ก็ต้องถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจสร้างแรงกดดันต่อ SET Index ในระยะสั้น แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่จะทยอยเก็บหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีเข้าพอร์ตการลงทุน เนื่องจากในระยะกลาง-ยาว ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกในเรื่องของ GDP Growth และ EPS Growth ของบริษัทจดทะเบียน ปี 2558 คอยสนับสนุน

ซึ่งกลยุทธ์การลงทุน และหุ้นที่น่าซื้อสะสมจะมีอะไรบ้างนั้น โปรดติดตามต่อกันอีกครั้งในบทความสัปดาห์หน้า

พูดคุยสอบถามกับผมได้ที่
Asiaplus
ประกิต สิริวัฒนเกตุ
Prakit Siriwattanaket
Strategist and Technical Analyst

ASIA PLUS SECURITIES PUBLIC CO LTD
email prakit@asiaplus.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น