ย้อนรอยปี 2557 เหมือนจะง่าย แต่แท้จริงแล้วยากยิ่งนัก
การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รูดม่านปี 2557 ลง ซึ่งน่าจะเป็นปีที่ดีของนักลงทุนหลายๆ คน (หวังว่าจะเป็นอย่างนั้นนะครับ) เพราะปีนี้ SET Index ปรับขึ้นมาได้เกินกว่า 16% (เทียบกับปี 2556 ดัชนีลดลงไป 6.7%)
หากลองมองย้อนภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปีนี้ พบว่า ตลอดปีมีเหตุการณ์สำคัญๆ กดดันตลาดมากมาย ที่ล้วนทำให้ตัดสินใจแสนลำบากยากเย็น ซึ่งผมขอหยิบยก 11 เหตุการณ์สำคัญทั้งไทย และเทศในรอบปีที่ส่งผลต่อดัชนีหุ้นไทย ดังนี้
1.Bangkok Shutdown
เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ม.ค. จากแกนนำ และกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ปิดหน่วยงานราชการ และจุดสำคัญ 7 แห่งในกรุงเทพฯ นำไปสู่การยกระดับการชุมนุมที่ร้อนแรงในเวลาต่อมา ส่งผลให้ SET Index ช่วงมกราคม ติดลบไป 17.44 จุด
2.ศรส.ขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม 5 จุดในกรุงเทพฯ
วันที่ 18 ก.พ. ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม 5 จุดที่กระจายทั่วกรุงเทพฯ เกิดการปะทะกันทำให้มีกลุ่มผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต SET Index วันนั้นปรับตัวลดลงมากสุดถึง 17.15 จุด ก่อนที่จะปรับตัวช่วงขึ้นในช่วงท้ายวันจนมาปิด 1,326.21 จุด ปิดลบไป 6.16 จุด
3.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะ
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายในวันเดียว ผลดังกล่าวทำให้ Set Index ปิดปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้า 0.97 จุด
4.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นตำแหน่งนายกฯ
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 จากกรณีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำให้ SET Index ปรับตัวลดลง 1.4 จุด จนมาปิดที่ 1402.61 จุด
5.กองทัพประกาศใช้กฎอัยการศึก ในวันที่ 20 พ.ค.
เพื่อต้องการลดความร้อนของการชุมนุมของทั้ง กปปส. และ นปช. และทำให้วันถัดมา ตลาดหุ้นไทยกลับมาบวกได้จากเดิม 8.23 จุด
6.รัฐประหาร ครั้งที่ 13 ในวันที่ 22 พ.ค.
เพื่อยุติการชุมนุม ความขัดแย้ง และคืนความสุขให้กับประเทศ ซึ่งส่งผลให้วันถัดมาแม้ดัชนีเปิดตัวต่ำแต่ก็มีแรงซื้อไล่กลับจนทำให้ดัชนีพลิกกลับขึ้นมาได้จากระดับเปิด 19.66 จุด จนมาปิดที่ 1,396.84 จุด
7.Fed ประกาศยุติการใช้ QE
หลังจากประชุม FOMC ในวันที่ 29-30 ต.ค. ซึ่งดูเหมือน SET Index จะตอบสนองไปแล้วล่วงหน้าจากที่ดัชนีปรับลดลง จากวันที่ 29 ก.ย.-21 ต.ค. ไปราว 4.68% แต่หลังจากวันที่ประกาศยุติ QE (31 ต.ค.) ดัชนีปรับตัวขึ้นได้เท่ากับ 1.2%
8.ECB ประกาศซื้อ ABS และ Covered Bond
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ซึ่งดูเหมือนตลาดจะค่อนข้างผิดหวังจากที่ไม่ได้แจ้งขนาดของโครงการว่าจะซื้อเท่าใด จึงทำให้วันถัดมา SET Index ลดลงไปต่ำสุดถึงติดลบไป 16.4 จุด ก่อนที่จะมีแรงซื้อกลับคืนให้กลับมาบวกได้ที่ 0.55 จุด
9.BOJ เพิ่มวงเงินอัดฉีด QE
เป็นสื่งที่สร้างเซอร์ไพรส์หลังการประชุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค. เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวอย่างรุนแรงจากผลของการขึ้นภาษีขายจาก 5% เป็น 8% ในเดือน เม.ย ที่ผ่านมา สร้าง Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวบวกขึ้นมาทันที 13.93 จุด
10.ราคาน้ำมันดิบโลกดำดิ่ง
ราคาน้ำมันดิบโลกพากันปรับตัวลดลงกว่า 50% จากต้นปี ไม่เพียงกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ทั้งทองคำ ยาง น้ำตาล เท่านั้น ยังส่งผลถึงผู้ประกอบการปิโตรเลียมขั้นต้นในไทยต้องเผชิญต่อการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน นำไปสู่การลดลงของคาดการณ์กำไรสุทธิของตลาดในปี 2557 และ 2558 ลง และนำไปสู่การปรับฐานของ SET Index ในเวลาต่อมาถึง 7.6% (ช่วง 1-15 ธ.ค.ที่ผ่านมา)
11. 15 ธ.ค. Black Monday !!!
แทบไม่น่าเชื่อว่าจะได้มีโอกาสเห็น SET Index รูดลงกว่า 100 จุดในวันเดียวอีกครั้ง ท่ามกลางกระแสข่าวลือทั่วตลาด ตามด้วยสารพัด Sell ทั้ง Force Sell, Short Sell และ Panic Sell !! แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากกระแสข่าวลือที่เริ่มซาลง ทำให้เกิดแรงซื้อกลับคืนมา และทำให้ดัชนีปิดท้ายวันติดเหลือ 36.46 จุด
ตลาดหุ้นไทยปิดฉากปี 2557 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับว่าเป็นปีที่มีดรามาเล็กๆ ในช่วงปลายปี จากที่เคยลุ้นว่า SET จะผ่าน 1,600 จุดได้สบายๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วต้องมาตั้งต้นกันใหม่ที่ 1,500 จุด
ในปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นอีกปีที่ต้องจับตาสถานการณ์ทั่วโลก อันจะสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดหุ้นโลก รวมทั้งตลาดหุ้นไทยที่ถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามดังนี้
1.แรงขายของ LTF ที่ครบกำหนด
ประเมินว่า LTF ที่ซื้อเมื่อปี 2554 (ครบ 5 ปีปฏิทิน) มูลค่ากว่า 6.3 หมื่นล้านบาท บวกกับหน่วยลงทุนที่ซื้อไว้ก่อนปี 2554 (2547-2553) ซึ่งเข้าเกณฑ์และสามารถขายคืนได้ ที่ยังค้างอยู่มูลค่าประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท รวม 2 ก้อนจะมี LTF พร้อมขายสูงถึง 1.41 แสนล้านบาท ซึ่งในอดีตช่วงไตรมาสแรกของทุกปีจะมีการขายคืนหน่วยลงทุนเฉลี่ย 33% ของมูลค่าที่ขายได้ (ราว 4.6 หมื่นล้านบาท) แต่ก็ไม่ได้แปลว่า จะต้องขายหุ้นออกมาในตลาดตามจำนวนดังกล่าว ขึ้นอยู่กับกองทุนที่เตรียมเงินสดสำรองไว้รองรับการ redeem
2.การเมืองในประเทศ
เชื่อว่าจะเริ่มมีความร้อนแรงมากขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. 58 โดยในวันที่ 17 เม.ย.58 ที่จะเป็นวันครบกำหนด 120 วัน ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ เสนอต่อประธาน สปช. ครม. และ คสช. พิจารณา ซึ่งในเวลานั้นคาดว่าจะมีปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะจากฝ่ายที่เสียประโยชน์
3.การลงทุนของภาครัฐ
หลังจากปี 2557 ที่ประเทศไทยต้องติดหล่มวิกฤตการเมือง และผลกระทบต่อเนื่องจากอภิมหานโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดก่อน ฉุดรั้งให้ GDP Growth 9M57 โตเพียง 0.2% (คาดทั้งปีอาจโตไม่ถึง 0.8%) และดึงให้ EPS ของตลาดอาจติดลบถึง 3% (ครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 51) ในปี 2558 จึงเป็นปีที่ตลาดคาดหวังต่อการทำงานของรัฐบาลปัจจุบันว่าจะตัวจักรสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ 3.5% ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ นโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ และเกษตรกร การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ฯลฯ ซึ่งต้องติดตามว่าจะสามารถดำเนินการได้รวดเร็วเพียงใด หากโครงการต่างๆ ของรัฐดำเนินไปอย่างล่าช้า จะส่งผลลบต่อการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศและกำไรของตลาดหุ้นในเวลาต่อมา
4.การขึ้นดอกเบี้ยของ FED สหรัฐฯ
จากตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัวที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี (ล่าสุด GDP Growth งวด 3Q2014 ขยายตัวดีเกินคาดึง 2.7% yoy) และ Fed ก็มีมุมมองที่ดีต่อตลาดแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เหล่านี้ล้วนเป็นตัวบ่งชี้ว่าการประชุม FOMC ในแต่ล่ะครั้งของปีหน้าจะออกมาในโทน Hawkish มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับลดค่ากลางของประมาณการอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการ Fed (ในปี 2015 เหลือ 1.125% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 1.375% และในปี 2016 เหลือ 2.5% จากเดิมที่ 2.875%) อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่า Fed จะไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยก่อนไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า
5.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของ ECB, BOJ และ PBOC
- ECB สืบเนื่องจากมาตรการกระตุ้นที่ผ่านมา (การเข้าซื้อ Covered Bond และ ABS) ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นยังคงต้องติดตามการส่งสัญญาณการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการประชุม ECB วันที่ 22 ม.ค.2558
- BOJ จากการทำ QE เพิ่มเติมเมื่อ ต.ค. และการเพิ่มสัดส่วนลงทุนในหุ้นทั่วโลกของ GPIF ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามผลจากมาตรการดังกล่าวว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น และ Money Supply ต่อระบบเงินของโลกมากน้อยเพียงใด รวมถึงมาตรการใหม่ที่อาจมีเข้ามาเพิ่มเติม หลังจากนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe กลับเข้ามารับตำแหน่งอีกครั้ง
- PBOC สืบเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอตัว ดังนั้น ยังคงต้องติดตามต่อไปว่า PBOC จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเพิ่มเติมหรือไม่ โดยส่วนหนึ่งตลาดคาดว่าอาจมีการปรับ RRR ลดลง
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศที่ต้องติดตามว่าจะกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากน้อยเพียงใด เช่น การปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงานภายในประเทศ, การแก้ปัญหา Oversupply ของน้ำมันดิบในตลาดโลก, วิกฤตเศรษฐกิจรัสเซีย ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้แล้วว่าต้องติดตามอะไรบ้าง และคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นโดยอาศัยข้อมูลในอดีต แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในโลกของการลงทุนมักจะมี “สิ่งที่เราไม่รู้” และ “เหนือความคาดหมาย” โผล่ขึ้นมาอยู่เสมอๆ ซึ่งในปี 2558 ส่วนตัวเชื่อว่าอาจมีอะไรที่ดรามากว่าปีนี้ รวมทั้ง “สิ่งที่เราไม่รู้” ที่จะโผล่ขึ้นมาไม่น่าจะใช่เรื่องดีเสียด้วย ฉะนั้น ขอให้นักลงทุนทุกท่านระมัดระวังในการลงทุน ใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร และข่าวลือที่มีอยู่ท่วมตลาด รวมทั้งต้องพกสติ และวินัย ห้อยคอมาด้วยทุกครั้งที่เทรดหุ้น
ประกิต สิริวัฒนเกตุ
Prakit Siriwattanaket
Strategist and Technical Analyst
ASIA PLUS SECURITIES PUBLIC CO LTD
email prakit@asiaplus.co.th