ในช่วงระยะเวลา 7-8 วันที่ผ่านมา ราคาทองคำในประเทศเคลื่อนไหว “ทรงตัว” โดยเคลื่อนไหวสูงสุดระหว่าง 18,600-18,900 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท และต่ำสุดระหว่าง 18,300-18,500 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาเคลื่อนไหวที่ประมาณ 32.65-32.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเองก็เริ่มอ่อนค่าลงเช่นกัน ส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศที่ควรจะพุ่งขึ้นอ่อนลง อย่างไรก็ตาม การที่ราคาหุ้นในตลาดนิวยอร์กปรับตัวลดลง ทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวขึ้นมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,187.50-1,212.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งราคาทองคำในประเทศที่ระดับราคาเฉลี่ยที่ 18,000 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท เป็นระดับที่นักลงทุนสามารถเข้าซื้อสะสมได้อย่างต่อเนื่อง โดยแนะนำแบ่งเงินลงทุนในทองคำ 1 ใน 3 และค่อยๆ ซื้อสะสมบริเวณแนวรับ
คาดการณ์ว่าระยะสั้นราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,195-1,215 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 18,200-18,900 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท ระยะนี้ราคาทองคำในประเทศต้องอิงกับค่าเงินบาท โดยราคาคาดการณ์ข้างต้นค่าเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวที่ระหว่าง 32.62-32.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม อยากให้จับตาความรุนแรงในตะวันออกกลางเป็นพิเศษ เพราะล่าสุด ออสเตรเลียพิจารณาส่งทหารภาคพื้นดินเข้าร่วมต่อต้านกลุ่มกบฏอิรัก รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดอีโบลา ซึ่งหากกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง จะส่งผลโดยตรงต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งหากการติดต่อเจรจาทางธุรกิจหยุดชะงัก ระบบหมุนเวียนในเศรษฐกิจโลกจะชะลอลงหนักกว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่ในหลายประเทศยังทรงตัวไม่ได้
อย่างไรก็ตาม มีการปรับคาดการณ์ปริมาณเงินทุนที่จะไหลเข้าสู่ “ตลาดเกิดใหม่” ทั้งปี 2557 นี้ เพิ่มขึ้นจาก 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.162 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2558 ก็จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามายังตลาดเกิดใหม่ในปริมาณเท่ากัน แต่สัดส่วนดังกล่าวก็เป็นวงเงินเฉลี่ยที่ต่ำกว่าวงเงินเฉลี่ยในรอบ 4 ปี และยังน้อยกว่าเมื่อปี 2556 ถึง 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ภาพรวมของกลุ่มประเทศใน “ตลาดเกิดใหม่” รวมถึงไทยยังคงเปราะบางหากเฟดพิจารณาใช้นโยบายดอกเบี้ยเข้ามาเป็นกลไกควบคุมเงินเฟ้อ เพราะจะกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ โดยเฉพาะมูลหนี้ที่เกิดจากการออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนในกลุ่มประเทศ “ตลาดเกิดใหม่” ทันที
ค่าของดอลลาร์สหรัฐมีค่าแข็งที่สุดในรอบ 7 ปี จากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่แข็งแกร่ง ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจยุโรป และญี่ปุ่นที่กำลังอยู่ในภาวะอ่อนแอ ซึ่งค่าดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากที่สุดตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินในปี 2008 อยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐ ต่อ 110 เยน และ 1.2667 เหรียญสหรัฐต่อยูโร แข็งค่าที่สุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 โดยดัชนีประเมินของมูลค่าดอลลาร์สหรัฐที่เทียบกับ 10 สกุลเงินใหญ่ของโลก ปรับตัวขึ้นมา 6.5% อยู่ที่ 1,068.80 จุด ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นดัชนีที่ปรับตัวสูงสุดตั้งแต่เกิดวิกฤตปี 2551 จากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวโดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 2 เติบโตที่ 4.6% เป็นการขยายตัวดีที่สุดในรอบ 2 ปี อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกันยายน ยังปรับตัวสูงที่ 84.6 จุด ซึ่งเป็นตัวเลขดีที่สุดในรอบ 7 ปี ประกอบกับการประกาศตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนปรับตัวลดลงอยู่ในระดับ 5.9% เป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เป็นการส่งสัญญาณความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานที่จะเป็นการช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีความแข็งแกร่งพอที่จะมีการรับมือต่อการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้
สาเหตุหลักที่นักลงทุนหันไปเก็งกำไรในดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น เพราะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด แสดงท่าทีว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อควบคุมสภาพของเงินเฟ้อที่ต่ำของกลุ่มยูโรโซน ส่งผลทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ผลของการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ธุรกิจสหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในอัตราที่ถูกลง กดดันให้ราคาสินค้าภายในประเทศสหรัฐฯ ถูกลง ส่งผลทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ง่ายขึ้น แต่ก็ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในแง่ของการส่งออก และการเติบโตของ GDP ซึ่งทางธนาคารกลางสหรัฐฯ ควรที่จะต้องอดทน เพราะยังไม่ควรที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะนี้ เพราะว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปจะเกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของโลกมากกว่ารอคอยจากความกังวลของการฟื้นตัวในตลาดแรงงาน เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย
อีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า คือ การที่เฟดยุตินโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือมาตรการ QE ส่งผลทำให้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดโลกลดน้อยลงจึงแข็งค่าขึ้น ประจวบเหมาะกับมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น ส่งผลทำให้มีเงินยูโร และเงินเยนเข้าไปหมุนเวียนในตลาดเพิ่มขึ้นจึงอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์สหรัฐ
แต่การที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจะไม่ส่งผลดีเลยต่อภาคการส่งออกของสหรัฐฯ เพราะผลิตภัณฑ์ส่งออกของสหรัฐฯ จะมีราคาสูงขึ้นจนสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก และส่งผลเสียต่อบริษัทสหรัฐฯ ที่ออกไปตั้งกิจการในต่างประเทศ ทำให้ผลกำไรกลับสู่สหรัฐอเมริกาน้อยลง และจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าก็จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2% ยากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เขียนคาดว่า เฟดจะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยก็ต้องล่าช้าออกไปอีก นั่นจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวน จากที่นักลงทุนหันกลับไปลงทุนในต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า อีกทั้งผลของการคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอยู่ ขณะเดียวกัน สภาพคล่องในตลาดสหรัฐฯ ก็ลดลงจากการยุติการใช้มาตรการ QE ทำให้ภาคการเงินในสหรัฐฯ ขาดสภาพคล่อง กระทบต่อการปล่อยกู้และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาถูกนานาประเทศตำหนิหลายครั้ง เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจในลักษณะ “ขาดความรับผิดชอบ” ต่อระบบเศรษฐกิจโลก กล่าวคือ สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายเศรษฐกิจลักษณะสวนทางกับประเทศอื่นในโลกทั้งยุโรป ญี่ปุ่นที่ยังคงซบเซา ประกอบกับมีการตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐอเมริกากำลัง “เล่นตลก” ตามความคิดของตัวผู้นำที่ “To big To fall”
ฉบับนี้ขอกล่าวถึงสาเหตุที่กลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษาเป็นแกนนำกลุ่ม “อ็อคคิวพาย เซ็นทรัล” ในฮ่องกงออกมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ให้กับฮ่องกง ซึ่งจะเท้าความว่า เดิมทีเกาะฮ่องกงเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ณ เวลานั้นฮ่องกงใช้ภาษาจีนกวางตุ้งเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา สภาพเกาะสะอาด วัฒนธรรมการดำรงชีวิตติดจะมีระเบียบ จนส่งมอบคืนให้แก่รัฐบาลจีน โดยรัฐบาลจีนสัญญาว่าจะให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนในปี 2560 ภาษาจีนที่ใช้ในการเรียนการสอนในสถานศึกษากลายเป็นภาษาจีนกลาง รวมถึงการหลั่งไหลเข้ามาของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่มาทำลายวัฒนธรรมการดำรงชีวิต สภาพเกาะสกปรก ไม่มีการรักษาควาสะอาดทิ้งขยะไม่เป็นที่ เข้ามาแย่งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย การทำงาน ฯลฯ เหล่านี้ทำให้ชาวฮ่องกงเก็บกด และเมื่อนักเรียน นักศึกษาออกมาเป็นแกนนำในการประท้วง ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกจ้าง พนักงานในธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก หรือ SME พิจารณาที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านนายจ้างด้วย ทำให้ขณะนี้กลุ่มธุรกิจ SME กำลังพิจารณาท่าทีระหว่งกลุ่มผู้ประท้วง และรัฐบาลจีน โดยพร้อมที่จะโยกย้ายฐานการประกอบธุรกิจออกจากเกาะฮ่องกง ไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ หรืออาจไปประเทศเกาหลีแทน
ผู้เขียนเชื่อว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของกลุ่ม “อ็อคคิวพาย เซ็นทรัล” ในฮ่องกงว่าจะบานปลายและทวีความรุนแรงขึ้น หรือจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น หลังจากตำรวจฮ่องกงยิงแก๊สน้ำตาหวังสลายการชุมนุม จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 40 ราย