เอเอฟพี – ประธานาธิบดี รีเซป ตอยยิบ เออร์โดแกน แห่งตุรกี ยอมรับวานนี้(28)ว่า กรุงอังการาไม่สามารถปลีกตัวจากการเป็นพันธมิตรต่อสู้กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ร่วมกับนานาชาติได้ และเตรียมที่จะประกาศจุดยืนทางทหารในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ตลอดหลายเดือนมานี้ การสงวนท่าทีของตุรกีต่อแผนกวาดล้างกลุ่มไอเอสได้สร้างความหนักใจต่อโลกตะวันตก ทว่าหลังจากที่ เออร์โดแกน ไปเยือนสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นโยบายของอังการาก็มีทีท่าจะพลิกไปจากเดิม
“เราจะหารือกับสถาบันที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์นี้ และจะทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ” เออร์โดแกน แถลงต่อที่ประชุม เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ณ นครอิสตันบูล
“เราจะปลีกตัวจากเรื่องนี้ไม่ได้” เขาย้ำ
กลุ่มติดอาวุธไอเอสในซีเรียได้รุกคืบขยายอิทธิพลมาจนอยู่ห่างชายแดนตุรกีแค่ไม่กี่กิโลเมตร ทำให้มีพลเรือนอพยพหนีตายมายังฝั่งตุรกีนับหมื่นๆ คน
ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยที่หนีการโจมตีของกลุ่มไอเอสในเมือง อัยน์ อัล-อาหรับ จังหวัดอะเลปโปของซีเรีย เข้าไปอยู่ในตุรกีแล้วกว่า 160,000 คน แต่ เออร์โดแกน ชี้ว่า จะเป็นการดีกว่าหากคนเหล่านี้สามารถอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาได้อย่างสงบสุข
ประธานาธิบดีตุรกียังย้ำข้อเรียกร้องให้ประกาศเขตกันชน (buffer zone) และเขตห้ามบิน (no-fly zone) ในซีเรีย เพื่อปกป้องชายแดนตุรกีและสวัสดิภาพของผู้ลี้ภัย พร้อมชี้ว่าอาจมีความจำเป็นต้องใช้ทหารภาคพื้นดินด้วย
“เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้การโจมตีทางอากาศเพียงอย่างเดียว มิติภาคพื้นดินก็มีความจำเป็นเช่นกัน” เขากล่าว
นายกรัฐมนตรี อาเหม็ต ดาวูโตกลู แห่งตุรกี แถลงวานนี้(28)ว่า รัฐบาลจะส่งหนังสือเรียกร้องให้ขยายระยะเวลาปฏิบัติการทางทหารในอิรักและซีเรียออกไปอีกในวันนี้(29) ขณะที่ พล.อ.เน็กเด็ต โอเซล ประธานเสนาธิการทหารตุรกี ก็เตรียมแถลงต่อคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้(30) เพื่อเปิดทางไปสู่การใช้ปฏิบัติการทางทหาร ทว่าขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าตุรกีจะยอมมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด
เออร์โดแกน ซึ่งประกาศจุดยืนขับไล่ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรียมาโดยตลอด ย้ำว่า การใช้กำลังทหารไม่สามารถขจัดภัยคุกคามจากไอเอสได้อย่างถาวร แต่ต้องหาทางออกเพื่อแก้ไขความขัดแย้งในอิรักและซีเรียอย่างยั่งยืน
“การทิ้งระเบิดทางอากาศเป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า” เขากล่าว
ผู้นำตุรกีเสริมต่ออีกว่า นานาชาติจะต้องร่วมมือกันยับยั้งไอเอสทั้งในอิรักและซีเรีย พร้อมติเตียนอังกฤษที่ช่วยวางแผนโจมตีเป้าหมายไอเอสในอิรักเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ ตุรกีเลือกที่จะมีส่วนร่วมต่อต้านไอเอสอย่างจำกัด โดยอ้างว่าเป็นห่วงสวัสดิภาพพลเมืองหลายสิบคนที่ถูกพวกไอเอสลักพาตัวไปอิรัก แต่หลังจากตัวประกันเหล่านี้ถูกช่วยเหลือออกมาได้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เออร์โดแกน จึงกล้าที่จะเปลี่ยนจุดยืนและผนึกกำลังกับตะวันตกมากยิ่งขึ้น