xs
xsm
sm
md
lg

คลังเร่งอัดงบพยุงเศรษฐกิจ-รับส่งออกดันไม่ขึ้น-ตั้งเป้าเบิกจ่าย 32%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังรับเศรษฐกิจโลกฟื้นต่ำกว่าคาด ฉุดส่งออกไทยร่วง แต่มั่นใจเร่งอัดฉีดงบประมาณ 3 เดือนแรก-งบเหลื่อมจากปีก่อนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ คาด 3 เดือนเร่งเบิกจ่ายได้ 32% ด้าน “สุรินทร์ พิศสวุรรณ” จี้รัฐพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขัน-จัดการแรงงาน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)กล่าวว่า ปัจจัยที่ยังน่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ก็คือเศรษฐกิจต่างประเทศที่ฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาดยกเว้นสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยอย่างเห็นได้ชัด จากราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำลง โดย สศค.ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของการส่งออกที่ 1.5% จากยอดส่งออก 7 เดือนแรกของปีที่ -0.4% ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไปจึงต้องอาศัยปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวทางรัฐบาลก็ได้มีแนวนโยบายให้เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในส่วนของงบประมาณประจำปี 2558 ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนหน้านี้ จำนวน 2.75 ล้านล้านบาท และงบเหลื่อมจากก่อนอีกประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยคาดว่าใน 3 เดือนนี้จะสามารถเร่งเบิกจ่ายงบทั้ง 2 ส่วนนี้ได้ 32%

“ในเดือนหน้าก็จะเริ่มเข้าสู่ปีงบประมาณ 58 แล้ว ซึ่งหากมีการเร่งเบิกจ่ายยังมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะช่วยพยุงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากแม้ว่าความเชื่อมั่นในประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่การบริโภคยังไม่กลับมา”

แนะไทยเร่งเพิ่มศักยภาพรับเปิดเสรี

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (FIT)กล่าวว่า ในขณะที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา กลุุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ตลาดอาเซียนยังมีบทบาทมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอยู่ รวมถึงการเปิดเสรีในกลุ่มต่างๆ เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ตลาดในภูมิภาคอาเซียนเปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในอาเซียน จึงควรเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับเรื่องต่างๆ ด้วย โดยทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์เศรษฐกิจประเทศอาเซียนปีนี้เติบโตเฉลี่ย 5.4% และปีหน้า 5.8%

นายสุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยเรามีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย อย่างในส่วนจุดแข็งนั้น เป็นด้านการเกษตร อาหาร แปรรูป ซึ่งเชื่อว่าตรงนี้ยังไม่มีใครมาแซงหน้าเราไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรโดยไม่ใช้วิธีการอุปถัมภ์เหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการเพิ่มเทคโนโลยีต่างๆให้ ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ก็เช่นกัน ประเทศไทยยังครองอันดับหนึ่งในการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอยู่ แต่ในด้านตลาดรถยนต์อินโดนีเซียขึ้นมาแทนไทย ซึ่งในเรื่องของการผลิตนั้นควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบพัฒนาใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพราะเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น

ขณะที่จุดด้อยของประเทศไทยเป็นเรื่องของปัญหาการเมืองที่ไม่มีความต่อเนื่องทำให้นโยบายต่างๆ ไม่ต่อเนื่องไปด้วยตรงนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ รวมถึงปัญหาทางด้านแรงงานที่ขาดแคลนและการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ เนื่องจากต้องยอมรับว่า 50% ของแรงงานภาคการเกษตรเป็นแรงงานต่างด้าว และไม่มีทางที่แรงงานไทยจะทดแทนตรงส่วนนี้ จึงควรมีการบริหารจัดการตรงนี้ให้มีระบบในระยะยาวด้วย

“สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากๆ ก็คือเรื่องศักยภาพในด้านการแข่งขัน แม้ในบางจุดเรายังครองความเป็นหนึ่งอยู่ แต่ก็ต้องมองถึงอนาคตด้วยว่า ประเทศอื่นก็เบียดเข้ามาเรื่อยๆ เช่นกัน ทำให้เราต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มประสิทธิภาพด้านการแข่งขัน ซึ่งการพัฒนาด้านการศึกษาก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ”

ชี้ชนชั้นกลางขับเคลื่อน ศก.-การเมือง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรเห็นถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดในอนาคตด้วย โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2030 จากประชากรในอาเซียน 700 ล้านคน จะเป็นชั้นกลาง 60% หรือประมาณ 400 กว่าล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจต่อไป และคนกลุ่มนี้ก็มีไลฟ์สไตล์เฉพาะตัว ดังนั้น ผู้ประกอบการก็ควรให้ความสนใจกับเซกเมนต์นี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น