xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ฟันธงส่งออกสิ่งทอไทยแนวโน้มขยายตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยผลการวิจัยแนวโน้มส่งออกสิ่งทอไทยปีนี้จะมีมูลค่า 7,500-7,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0-3 แรงส่งต่อเนื่องจากมหกรรมฟุตบอลโลก และเร่งส่งสินค้าก่อนหมด GSP ชี้จับตาปัจจัยเสี่ยงขาดแคลนแรงงาน และถูกตัดสิทธิประโยชน์ แนะเพิ่มศักยภาพการผลิตแสวงหาตลาดใหม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดโลกในปีพ.ศ. 2557 จะมีมูลค่า 7,500-7,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0-3 (YoY) โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับแรงส่งต่อเนื่องจากมหกรรมฟุตบอลโลก รวมไปถึงคำสั่งซื้อจากคู่ค้าหลักอย่างสหภาพยุโรปที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่สินค้าไทยจะหมดสิทธิ GSP ในปลายปีนี้ รวมไปถึงการลดการพึ่งพาฐานการผลิตในจีนของญี่ปุ่น ที่ผลักดันให้ยอดการส่งออกในปีนี้ยังขยายตัวในแดนบวกได้

ทั้งนี้ ตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อาเซียน จีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น ในขณะที่สินค้าที่มีศักยภาพในการเจาะตลาด นับจากนี้ไปถึงระยะข้างหน้า น่าจะเทน้ำหนักไปที่กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added) หรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น เช่น การผลิตสิ่งทอเชิงเทคนิคที่สามารถเชื่อมโยงไปยังธุรกิจต่อเนื่องที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในตลาดโลก เช่น ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจการแพทย์ เป็นต้น รวมไปถึงสินค้าที่สามารถเกาะไปตามกระแสเทรนด์การบริโภคโลก เช่น สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Textile) สินค้าสำหรับสังคมผู้สูงอายุ หรือการขยายตัวของความเป็นเมืองของคนชนชั้นกลาง เป็นต้น

แม้ว่าสถานการณ์ด้านการส่งออกในปีนี้จะให้สัญญาณในเชิงบวกต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แต่ประเด็นเรื่องอุปสรรคทางการค้าและความสามารถทางการแข่งขันยังคงเป็นโจทย์ท้าทายในระยะต่อไป โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งในเรื่องของปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างแรงงาน และอุปสรรคทางการค้า การถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ จากประเทศคู่ค้าสำคัญ และความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับคู่ค้าหลักที่ยังไม่มีความชัดเจน

ทั้งนี้ เพื่อรองรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป ผู้ประกอบการไทยควรเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยการขยายตลาดคู่ค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดที่ไทยมีข้อตกลงทางการค้า FTA ตลอดจนการมองหาจุดแข็งทางธุรกิจเพื่อสร้างความแตกต่าง โดยมุ่งไปทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกาะไปกับเทรนด์ผู้บริโภค และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคู่ค้าเป็นสำคัญ รวมไปถึงการแสวงหาแนวทางรับมือกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น และการมองหาลู่ทางในการขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความยั่งยืนในสายการผลิต

นอกจากนี้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในจังหวัดตาก (อ.แม่สอด) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 พื้นที่นำร่องที่ภาครัฐวางเป้าหมายให้เป็นพื้นที่ศักยภาพสำหรับอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานสูงอย่างสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น