xs
xsm
sm
md
lg

ชี้การเบิกจ่ายภาครัฐจะเป็นกลไกส่วนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งหลังของปีกระเตื้องขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศค. ชี้การเบิกจ่ายภาครัฐจะเป็นกลไกส่วนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งหลังของปีกระเตื้องขึ้น เล็งปรับประมาณการเศรษฐกิจเดือน ก.ค.นี้ พร้อมจับตาสถานการณ์ภาคส่งออกไปยุโรป เผยเห็นสัญญาณเครื่องยนต์หลักหลายตัวเริ่มทำงาน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทีมของ สศค.เร่งสำรวจภาพรวมตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกครั้ง หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่ก่อนหน้านี้เคยได้รับผลกระทบอย่างหนักก็เริ่มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สศค.มองว่าแม้ภาคการส่งออกจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงพิเศษที่น่าจับตา หลังจากมีปัญหาเรื่องสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ประณามการเข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และตัดความช่วยเหลือข้อตกลง รวมไปถึงความร่วมมือทั้งหมดจนกว่าประเทศไทยจะมีการจัดการเลือกตั้ง แม้ในเบื้องต้นเชื่อว่าปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากนัก เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับอียูจะมีผลต่ออุตสาหกรรมส่งออกบางกลุ่มเท่านั้น เช่น กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วคิดเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับภาพรวมการส่งออกของไทยทั้งหมด

“มีความเป็นห่วงปัญหาอียูบ้าง แต่เมื่อพิจารณาแล้วอาจไม่มีผลกระทบมากนัก ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีที่เหลือก็มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสที่จีดีพีในปีนี้จะเติบโตได้มากกว่า หรือใกล้เคียงกับที่ สศค. คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 2.6% ซึ่ง สศค.จะมีการทบทวนตัวเลขจีดีพีอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้” นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา ระบุว่า เศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีนี้จะกระเตื้องขึ้น หากการผลักดันรายจ่ายงบประมาณปี 2557 สามารถทำได้ตามเป้าหมาย และการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของปีงบประมาณ 2558 ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 นี้ เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจปีนี้กระเตื้องขึ้น

ทั้งนี้ สศค.ได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือเพียง 2.6% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 4% และจะประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้ใหม่อีกครั้งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2557 นี้

“ภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงนี้ต้องถือว่ามีสัญญาณการฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค และการลงทุน สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยขยายตัว 2.3%”

กรณีดังกล่าวเนื่องจากได้รับแรงผลักดันจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากสินค้านำเข้าขยายตัวถึง 5% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ส่วนภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ที่สะท้อนการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง ในเดือนพฤษภาคมนี้ แม้จะยังหดตัว 1% แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ พบว่า มีอัตราการขยายตัว 2%

สำหรับการพัฒนาภาคการส่งออกของไทย มองว่า เราจะต้องยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น สะท้อนจากภาคการส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่มีการขยายตัวสูงกว่าไทยในเวลานี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น การผลิตชิ้นส่วนของ SMART PHONE โดยปัจจุบันบริษัท SAMSUNG ได้ฐานการผลิตส่วนหนึ่งจากไทยไปผลิตที่เวียดนามแล้ว

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับเป้าหมายของการขยายตัวของการส่งออก ลดลงเหลือ 3.5% จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 5% เนื่องจากการส่งออกตั้งแต่ต้นปี จนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ ยังมีอัตราการขยายตัวที่ติดลบที่ 1.2%

ขณะที่ตลาดส่งออกของไทยในตลาดอาเซียน 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบูรไน ติดลบสูงสุดที่ 8.8 % รองลงมาคือ ตลาดจีน ที่ติดลบ 5.6% ส่วนตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวในระดับสูงสุด คือ ตลาดในกลุ่มประเทศอินโดจีน ที่ขยายตัวถึง 8 % รองลงมาคือ ตลาดสหภาพยุโรป ที่ขยายตัว 6.4%

ทั้งนี้ สศค. จะเข้าไปวิเคราะห์ในรายละเอียดถึงการลดลงของการส่งออกของไทยในช่วงนี้ว่ามาจากสาเหตุใดบ้าง ซึ่งสมมติฐานหนึ่งที่จะเข้าไปวิเคราะห์ คือ การที่นักลงทุนไทยได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ ส่งผลให้การส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านของเราในหลายประเทศขยายตัวค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นการส่งออกผ่านประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น

อย่างไรก็ตาม หากเป็นจริงก็ต้องมาดูว่าสาเหตุที่ผู้ประกอบการไม่นำเงินกลับเข้าประเทศ มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง โดยปัจจุบันการส่งกลับเงินปันผลได้รับการยกเว้นภาษี แต่ในส่วนของกำไรของกิจการขึ้นอยู่กับว่า ไทยมีสนธิสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศที่ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น