ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -จังหวะก้าวของบรรษัทผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีอายุยืนยาวมากว่า 50 ปี ในหลายกรณีย่อมไม่ได้เป็นเพียงการเฉลิมฉลองที่องค์กรแห่งหนึ่งสามารถยืนหยัดฝ่ามรสุมของวิกฤตการณ์มาได้อย่างตลอดรอดฝั่งเท่านั้น หากยังมีมิติมุมมองว่าด้วยบาทย่างสำหรับอนาคตที่ท้าทายและต้องเผชิญอยู่เบื้องหน้าด้วย
การแถลงข่าวของ กันยงอิเลคทริก ในวาระครบรอบ 50 ปี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ดำเนินไปในบริบทที่ไม่แตกต่างกันนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการย้อนพินิจ ความสำเร็จและประสบการณ์ในช่วงที่ต้องดำเนินฝ่าวิกฤตการณ์หลากหลายแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังคืบคลานเข้ามา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการเปิดประชาคมอาเซียน หรือ AEC ที่กำลังกลายเป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องปรับตัวเข้าแย่งชิงกันอย่างเอิกเกริก รวมถึง กันยงอีเลคทริก ที่มุ่งมั่นจะก้าวไปสู่การเป็น regional brand ในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ให้ได้
พัฒนาการของการก้าวสู่การเป็นแบรนด์ระดับภูมิภาค ไม่ได้ปรากฏขึ้นเฉพาะในกรณีของกันยงอิเลคทริก เท่านั้น หากแต่ดูเหมือนผู้ประกอบเกือบจะทุกรายได้วางเป้าหมายนี้เป็นประหนึ่งเข็มมุ่งไม่แตกต่างกัน หากแต่ผู้ใดจะบรรลุสู่เป้าประสงค์นี้ด้วยวิสัยทัศน์และกระบวนการทางธุรกิจอย่างไรเท่านั้น
“มิตซูบิชิฯ เข้ามาปักหลักลงทุนในประเทศไทยร่วมกับกันยงฯ มานานกว่า 50 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าตลาดในภูมิภาคยังเล็กมาก แต่นับจากนี้ ด้วยขนาดของประชากรกว่า 600 ล้านคน และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค อาเซียนจะเป็นตลาดหลักของเรา” ประพัฒน์ โพธิวรคุณ กล่าวถึงทิศทางของกันยงอิเลคทริก ไว้ครั้งหนึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ ก่อนหน้านี้กำลังผลิตของกันยงอิเลคทริก กว่าร้อยละ 75 เป็นไปเพื่อการส่งออก ซึ่งมีตลาดหลักส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่ตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของผู้ร่วมทุน แต่เมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียนจะมีผลในปี 2558 กระบวนการในการปรับโฟกัสของผู้ประกอบการจึงเกิดขึ้น
สถานะของการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นการตอบสนองความต้องการภายในประเทศแบบเดิมๆ กำลังเดินหน้าเข้าสู่กลยุทธ์ใหม่ ที่เป็นการนำนวัตกรรมแผ่เข้าไปครอบครองตลาดที่ดำเนินไปอย่างมีพลวัต
“ตลาดอาเซียนมีความสำคัญมาก เพราะก่อนที่จะรุกเข้าไปในตลาดอินเดียหรือจีนที่มีประชากรนับพันล้าน เราต้องปักหลัก และสร้างความมั่นคงเข้มแข็งในตลาดอาเซียนให้ได้ก่อน หลังจากที่เราปรับลดการพึ่งพาตลาดญี่ปุ่นเป็นด้านหลักลง อาเซียนจะเป็นกลไกที่นำพาเราไปข้างหน้าอีกขั้นก่อนรุกจีนและอินเดีย”
การมีพันธมิตรทางธุรกิจที่แนบแน่นอย่าง “มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น” เป็นคู่ค้าและผู้ร่วมลงทุนที่สำคัญมาอย่างยาวนาน ในด้านหนึ่ง แม้จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร และสร้างหลักประกันในคุณภาพสินค้าได้เป็นอย่างดี แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ การรับรู้และให้คุณค่าแบรนด์องค์กร “กันยงฯ” กลับกลายเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาของการรุกไปสู่การเป็น regional brand ที่คาดหวัง
และนี่อาจเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ กันยงฯ ต้องกำหนดแผนสำหรับการ “รีแบรนด์” องค์กรเพื่อเปิดมิติมุมมองสู่การรับรู้ระดับสาธารณะให้มากขึ้น
“สิ่งที่เราต้องสื่อสารออกไปในด้านหนึ่งก็คือ เพื่อให้คนทั่วไปรับรู้ว่าเราทำอะไร และเราคือใคร ขณะเดียวกันก็ต้องขอให้ทางญี่ปุ่นช่วยสนับสนุน สื่อให้ทั่วโลกรู้จัก “กันยงอีเลคทริก” พอๆ กับการรับรู้ว่าแบรนด์ “มิตซูบิชิ” คือแบรนด์ญี่ปุ่น เพราะในอนาคตทั่วโลกรับรู้ด้วยว่า โรงงานผลิตเองก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้ชื่อแบรนด์”
โจทย์ที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้าสำหรับ กันยงฯ ก็คือ ทำอย่างไรที่ตลาดจะรับรู้เรื่องราวที่ ประพัฒน์ โพธิวรคุณประสงค์จะส่งผ่านข้อความนี้ไปถึง เพราะหากพิจารณาจากโครงข่ายการขยายตัวครอบคลุมอาเซียนโดยมิตซูบิชิในปัจจุบัน ก็พบว่า แบรนด์มิตซูบิชิ ยังดำเนินไปข้างหน้าโดยลำพัง
“การผนึกกำลังกันของไทยและญี่ปุ่นในการรุกตลาดใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การปูทางเพื่อเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและเครือข่ายการค้าเพื่อรุกอาเซียน จำเป็นต้องมีการปรับตัว ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่มาสู่ Think ASEAN ให้มากขึ้น เช่นเดียวกับกันยงฯ ที่มีการปรับโครงสร้างบริษัทอย่างต่อเนื่อง”
กลยุทธ์หนึ่งที่กำลังจะใช้ในการรุกตลาดอาเซียนก็คือ “เข้าสู่ตลาดร่วมกัน แต่แยกกันขาย” โดยจะใช้ “ตู้เย็น” เป็นหัวหอกในการบุกตลาด ก่อนจะนำเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มตามไป ทั้งเครื่องปรับอากาศ เครื่องปั๊มน้ำ เครื่องเป่ามือ และพัดลมระบายอากาศ
“เราคาดหมายว่าจะไม่มีการแข่งขันกันเอง แต่จะผสมผสานการทำตลาดด้วยกันมากกว่า”
ทั้งนี้ กันยงฯ และบริษัทแม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำตลาดออกเป็น 2 ส่วน กลุ่มแรกคือตลาดอาเซียน ประกอบด้วย 10 ประเทศรวมไทย และกลุ่มที่ 2 คือ ตลาดไม่ใช่อาเซียน (Non ASEAN) ได้แก่ ตลาดยุโรป อเมริกา และกลุ่มโอเชียเนีย ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
ขณะที่ในทัศนะของประพัฒน์ เขาหวังที่จะให้ตลาดแต่ละแห่งสามารถรักษาสมดุลในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นการรองรับความเสี่ยงด้านรายได้จากยอดการจำหน่าย โดยเฉพาะในกรณีที่อาจมีเหตุไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นในตลาดใดตลาดหนึ่ง
สำหรับรายได้ของกันยงในงวดปี 2557/2558 (1 เม.ย 57-มี.ค.58) ประพัฒน์คาดว่าจะมียอดขายแตะระดับ 2 หมื่นล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่ 15-20%
ประพัฒน์ยังมองเศรษฐกิจโลกในอนาคตที่จะกลายมาเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจของกันยงในอนาคตว่า อนาคตอยู่ที่เอเชีย ในอีกไม่เกิน 4-5 ปีข้างหน้านี้ ช่วงนี้ถือเป็นช่วงของการเตรียมพร้อมเพื่อรับเศรษฐกิจขาขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศผ่านจุด Bottom Line (จุดต่ำสุด) ไปแล้ว ช่วงนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของหลายๆ บริษัทที่กำลังปรับตัวกันอีกรอบเพื่อรับเศรษฐกิจขาขึ้น
ยุทธศาสตร์ของกันยงฯ และมิตซูบิชิ ที่กำลังจะมีต่อตลาดอาเซียนในห้วงเวลานับจากนี้จึงน่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง ว่าจะสามารถแผ่กว้างครอบคลุมพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นประหนึ่งฐานที่มั่นและสปริงบอร์ดไปสู่การรุกเข้าสู่ตลาดระดับนานาชาติครั้งใหม่ได้มากน้อยอย่างไร