“นิด้า” เตรียมจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ICADA 2014 วันที่ 29-31 พ.ค. 2557 นี้ ในหัวข้อประชาคมอาเซียน และโลกาภิวัตน์ ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านการต่างประเทศเผย งานนี้เป็นประโยชน์ด้านขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่จะไม่มองแค่ตลาดอาเซียน และมองก้าวไปที่การแข่งขันระดับโลกด้วย สำหรับประเด็นเรื่องการศึกษา ชี้การศึกษาไทยแข่งได้ แต่เด็กไทยยังด้อยเรื่องภาษาอังกฤษที่เป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไข พร้อมเสริมความรู้ด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า โดย รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี เตรียมจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ICADA 2014 (The Third International Conference on Advancement of Development Administration 2014) ในวันที่ 29-31 พฤษภาคม 2557 นี้ โดยการประชุมวิชาการระดับนานาชาติในปีนี้ มีหัวข้อหลักคือ ประชาคมอาเซียน และโลกาภิวัตน์ (ASEN and Globalization) ที่จะมีเนื้อหาเน้นหนักใน 3 ด้าน คือ การบูรณาการ (Integration) ความหลากหลาย (Diversity) และความมั่งคั่งรุ่งเรือง (Prosperity) ที่เกิดขึ้นในอาเซียนและกระบวนการโลกาภิวัตน์ โดยนิด้าได้ให้ความสำคัญงานวิจัยในหัวข้อดังกล่าวในหลายสาขาวิชา เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับวาระแห่งชาติที่สำคัญ
ผศ.ดร.รุจิระ โรจนประภายนต์ ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านการต่างประเทศ กล่าวว่า งานประชุมครั้งนี้จะเป็นงานประชุมที่ระดมความคิดด้านสังคมศาสตร์ บริหารการพัฒนา และการบริหารธุรกิจ โดยเปิดโอกาสให้นักวิชาการชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อข้างต้น ส่งผลงานวิจัยเข้ามาร่วมพิจารณา ในปีนี้มีงานวิจัยส่งเข้าร่วมกว่า 200 ชิ้นงาน และคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกผลงานเด่นๆ ออกมาได้ทั้งหมดกว่า 160 ชิ้นงาน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สังคมไทย ประชาคมอาเซียน รวมถึงนานาชาติได้ประโยชน์จากงานวิจัยเหล่านี้อย่างมาก เนื่องจากผลงานทั้งหมดจะเน้นไปที่อาเซียนและโลกาภิวัตน์ ดังนั้น จึงมีงานวิจัยที่ค่อนข้างหลากหลาย รวมถึงประเด็นในเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่มีคนห่วงใยอย่างมากคือการศึกษาของไทยจะสู้คนอื่นได้หรือไม่
ผศ.ดร.รุจิระ ให้ความเห็นว่า ขีดความสามารถในด้านการศึกษาของประเทศไทยนั้น ยังถือว่าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ดีพอสมควร คืออยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย และมีประเทศเพื่อนบ้านอื่น เช่น ลาว เขมร เวียดนาม และพม่า ยังนิยมส่งคนมาเรียนในระดับอุดมศึกษาในไทย ส่วนสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์มาตลอดนั้นมีคุณภาพที่ไปไกลมากแล้ว ส่วนการจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ประเทศไทยจะต้องเดินหน้าใน 2 เรื่องที่สำคัญให้ได้ คือแก้จุดอ่อน และวางแผนแนวรุก
โดยจุดอ่อนที่สำคัญของการศึกษาไทยนั้น ยังติดอยู่ที่ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กไทยที่ยังต้องพัฒนาอย่างทั่วถึง คือ เด็กคนไหนที่เก่งภาษาอังกฤษก็จะเก่งไปเลย แต่เด็กคนไหนที่ไม่เก่งก็จะไม่ได้ภาษาอังกฤษเลย ถือเป็นจุดอ่อนที่จะต้องเร่งแก้ไข นอกจากนี้ จะต้องเตรียมความพร้อมเด็กไทยให้เข้าใจสภาวะของความเป็นสากล และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในแง่มุมต่างๆ หมายถึงว่าต้องเปิดใจให้กว้างขึ้นและลดอคติที่มีต่อกัน
“การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป เขาก็ต้องมีการปรับเข้าหากันทางวัฒนธรรม และต้องใช้เวลา การเข้าสู่ AEC ก็เช่นเดียวกัน จะต้องใช้เวลา ประเด็นสำคัญคือ ต้องมีการปรับ หรือพัฒนาความรู้เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วย และลดอคติต่อกันให้ได้มากพอที่จะอยู่ร่วมกัน”
ส่วนการวางแผนแนวรุกนั้น ผศ.ดร.รุจิระ มองว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้นเป็นเรื่องที่สังคมไทยทำกันมานานแล้วอย่างไม่ทันรู้สึกตัว เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน ติดต่อกันตลอดเวลา จึงไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการไม่ให้ไทยเสียเปรียบในด้านต่างๆ จากการที่เข้าร่วม AEC นี้ ส่วนการวางแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกของประเทศนั้น สังคมไทยต้องจริงจังและมองไกลไปถึงตลาดยุโรป อเมริกาเหนือ ที่มีการแข่งขันในคุณภาพและความสามารถสูง เพราะทุกวันนี้โลกาภิวัตน์ได้ครอบคลุมไปทั้งหมดแล้ว การเข้าตลาดอาเซียนจึงเป็นการเริ่มต้นมากกว่าจะเป็นจุดหมายปลายทาง
นอกจากนี้ ในการประชุมยังมีหัวข้อที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น เรื่องการเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเชิงการแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นเนื้อหาที่นักเศรษฐศาสตร์ได้กล่าวถึงความได้เปรียบเสียเปรียบที่ประเทศไทยจะได้รับในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน
เรื่องกระบวนทัศน์การจัดการของอาเซียนและกระบวนการจัดการแบบวิถีพุทธที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เรื่องการบูรณาการระบบธนาคารอาเซียนโดยเน้นการวางระเบียบแบบโลกาภิวัฒน์ เรื่องความท้าทายและการคาดคะเนความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป เรื่องแนวทางการพัฒนาแบบมุสลิมเพื่อความยั่งยืนของประเทศอาเซียนในอนาคต เรื่องธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย และ เรื่องการจัดการการท่องเที่ยวแบบบูรณาการเพื่อการเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ เหล่านี้เป็นตัวอย่างของหัวข้องานวิจัยที่จะมีการนำเสนอในงานประชุมวิชาการนี้
ทั้งนี้ งานประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และลงทะเบียนได้ ที่เว็บไซต์ http://www.icada2014.nida.ac.th หรือ โทร. 0-2727-3325-6, 0-2727-3612