คปภ.มั่นใจเบี้ยประกันทั้งระบบแตะ 7 แสนล้านบาท แม้ช่วงต้นปีสะดุดเล็กน้อย แต่ภาพรวม 4 เดือนยังโต 15% พร้อมแนะผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพแข่งขัน เดินหน้ารุกตลาดอาเซียนมากขึ้น ระบุกฎหมายแฟตก้ากระทบธุรกิจน้อยแม้ต้องมีต้นทุนดำเนินงานเพิ่ม
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจประกันภัยในปีนี้เชื่อว่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 13% หรือมีเบี้ยประกันภัยรับเพิ่มขึ้นเป็น 7.6 แสนล้านบาท จากเดิมในปี 2556 อยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นเบี้ยของธุรกิจประกันชีวิต 5 แสนล้านบาท และเบี้ยของธุรกิจประกันวินาศภัย 2 แสนล้านบาท
“ธุรกิจประกันตอนนี้เบี้ยจะอยู่ที่ 6% ต่อจีดีพี ซึ่งในช่วงต้นปีถือว่าโตช้ามาก แต่ก็ยังโตในระดับ 15% แต่ก็เชื่อว่าถ้าเป็นในลักษณะนี้ก็น่าจะโตได้ตามเป้าที่ 13% ซึ่งถือเป็นค่าเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาจะโตประมาณ 13% ซึ่งตอนนี้เหลือเวลาอีก 8 เดือน และดูเหมือนจะมีบรรยากาศหรือมุมมองที่ดีขึ้นกว่าเดิม” นายประเวชกล่าว
ส่วนภาพรวมของธุรกิจประกันภัย 4 เดือนแรกของปีนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 237,505 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.14 มีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศร้อยละ 6.1 จากธุรกิจประกันชีวิตร้อยละ 4.4 และธุรกิจประกันวินาศภัยร้อยละ 1.7
โดยแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันชีวิตจำนวน 168,994 ล้านบาท ขยายตัวอย่างโดดเด่นที่ร้อยละ 21.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อธุรกิจประกันชีวิต และจากธุรกิจประกันวินาศภัย จำนวนรวมทั้งสิ้น 68,510 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการประกันภัยรถมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุดจำนวน 39,565 ล้านบาท ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.18 รองลงมาการประกันภัยเบ็ดเตล็ดจำนวน 23,330 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.90 และ การประกันอัคคีภัยจำนวน 3,813 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.47
นายประเวชกล่าวอีกว่า สำหรับการเติบโตของธุรกิจประกันภัยนั้นตามแผนในปีหน้าจะเข้าสู่แผนพัฒนาฉบับที่ 3 แต่นอกจากการขยายตัวภายในประเทศแล้ว อยากให้บริษัทให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันไปต่างประเทศด้วย เนื่องจากเชื่อว่าตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนยังมีโอกาสอยู่อีกมากสำหรับธุรกิจประกันฯ ของไทย
ชี้กฎหมายแฟตก้ากระทบน้อย
นายประเวชกล่าวอีกว่า ในส่วนของกฎหมายจากอเมริกา หรือแฟตก้า ในการให้ธนาคาร และสถาบันการเงินในต่างประเทศรายงานธุรกรรมของบุคคล หรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติอเมริกัน ซึ่งก็รวมถึงธุรกิจประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองในรูปแบบมูลค่าเงินสด ต้องรายงานข้อมูลทางบัญชีของลูกค้าเหล่านี้ให้กรมสรรพากรของสหรัฐฯ นั้น ขณะนี้เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตมากนัก เพราะจำนวนลูกค้าที่มีสัญชาติอเมริกันมีอยู่ค่อนข้างน้อย
อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวมีส่วนที่ก่อให้เกิดต้นทุนอยู่ โดยทางประเทศไทยมีข้อกังวลและได้ทำการยื่นขอผ่อนผันเกณฑ์ออกไป 2 ประการด้วยกัน คือ 1. การยกเว้นสำหรับการประกันภัยรายย่อย 2. การยกเว้นในส่วนของการประกันชีวิตสะสมทรัพย์ที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ ซึ่งเรื่องนี้จะยังต้องรอคำตอบจากทางสหรัฐฯ ต่อไปว่าจะออกมาในรูปแบบใด
“เกณฑ์ที่จะต้องรายงานมันประมาณ 1.5 ล้านบาทหรือ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ ซึ่งถ้าเป็นไมโครอินชัวรันซ์หรือรายย่อยเบี้ยมันน้อยมาก ซึ่งตรงนี้เราก็พยายามชี้แจง แต่เชื่อว่าถึงแม้จะมีต้องขั้นตอนกับแบบฟอร์มที่เพิ่มขึ้นคงจะกระทบธุรกิจประกันไม่มาก เพราะดูจากตัวเลขแล้วลูกค้าที่มีสัญชาติอเมริกันของบริษัทประกันมันจะมีน้อยมากในปัจจุบัน”