“พฤกษา” ถอดใจลงทุนเวียดนาม อินโดฯ หลังเจอสารพัดปัญหา กม.ที่ดิน ภาษี อัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ หันเพิ่มลงทุนในประเทศหลัง คสช. เดินหน้าโครงการ 2.4 ล้านล้าน พร้อมเพิ่มพอร์ตลงทุนต่างจังหวัด 10% ในปี 58 เตรียมออกหุ้นกู้ 7,000 ล้านบาทปลายไตรมาส 3 ครึ่งปีหลังเปิด 35 โครงการ มูลค่า 41,400 ล้านบาท เชื่อครึ่งปีหลังอสังหาฯ โต 6% แต่ทั้งปีคาดติดลบ 7.2%
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนชะลอการลงทุนในต่างประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ยกเลิกการลงทุนในมัลดีฟส์ไปแล้ว เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องของกฎหมายที่ดิน ภาษีที่เก็บสูงถึง 5% แม้ว่าจะกำไรหรือขาดทุน อัตราแลกเปลี่ยน ภาวะเงินเฟ้อปัญหาเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ทำให้บริษัทยกเลิกแผนการลงทุนใน 2 ประเทศดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงลงทุนเฉพาะที่อินเดีย หลังจากที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนมากว่า 5 ปี เนื่องจากมีความต้องการของผู้บริโภคสูง และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ล่าสุด ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 1 แปลง เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม โดยจะเปิดขายในช่วงปลายปีนี้ พร้อมกับยุบ BU ต่างประเทศ เหลือเพียงหน่วยงานย่อยเท่านั้น
“เราต้องกลับมาศึกษาบทเรียนที่ได้จากการไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีปัญหามาโดยเฉพาะกฎหมายที่ดิน ภาษีรายได้ที่สูงมาก ซึ่งเป็นอุปสรรค์ต่อการลงทุน รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายเดินหน้าโครงการ 2.4 ล้านล้านบาท ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้โอกาสด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศมีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าสายต่างๆ รถไฟทางคู่ เป็นต้น ล้วนเป็นการเปิดหน้าดินให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาฯต่างๆ ทำให้บริษัทจะหันมาลงทุนในประเทศแทน ด้วยการเพิ่มพอร์ตลงทุนในต่างจังหวัดมากขึ้น หลังจากที่ชะลอแผนลงทุนต่างจังหวัด นับจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา” นายทองมากล่าว
ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนในต่างจังหวัดเพียง 5% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด เช่น สมุทรสาคร นครปฐม ชลบุรี ขอนแก่น ภูเก็ต และอยุธยา โดยปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตลงทุนต่างจังหวัดเป็น 7% และ 10% ในปี 58 ล่าสุด เตรียมเปิดโครงการคอนโดมิเนียมที่ ระยอง นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะลงทุนในหัวเมืองสำคัญอื่นๆ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทยา และเชียงใหม่ เป็นต้น
ครึ่งปีหลังลุยเปิด 35 โครงการ มูลค่า 4.1 หมื่นล้าน
ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนลงทุนเปิดโครงการใหม่ 35 โครงการ มูลค่า 41,000 ล้านบาท หลังจากที่ช่วง 6 เดือนแรกเปิดไปแล้ว 38 โครงการ มูลค่า 31,000 ล้านบาท ส่งผลให้ปีนี้ทั้งปีบริษัทเปิดตัวโครงการใหม่ 73 โครงการ มูลค่ารวม 72,400 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 80% และแนวสูง 20% โดยยังคงให้ความสำคัญต่อบ้านระดับราคา 1-3 ล้านบาท คิดเป็น 60% ของพอร์ต ราคา 3-5 ล้านบาท 31% และมากกว่า 5 ล้านบาท 5% บ้านราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีเพียง 2% ของพอร์ตเท่านั้น เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน ราคาบ้านเฉลี่ยของพฤกษา อยู่ที่ 2.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 56 ที่ราคาบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 2.26 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2 แสนบาท โดยราคาเฉลี่ยทาวน์เฮาส์ 2.07 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 4.24 ล้านบาท และคอนโดฯ ราคาเฉลี่ย 2.73 ล้านบาท โดยจะเน้นกลยุทธ์การบริหารรอบธุรกิจเพื่อให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้เร็วขึ้น และลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ด้วยการนำเทคโนโลยีการก่อสร้างมาใช้ เช่น ห้องน้ำสำเร็จรูป นอกเหนือจากการใช้ระบบพรีคลาสในการก่อสร้าง
นอกจากนี้ ยังมีแผนออกหุ้นกู้ มูลค่า 7,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี ในช่วงปลายไตรมาส 3 เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับ 1.33 เท่า
ส่วนผลประกอบการครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทสามารถยอดขาย 17,937 ล้านบาท แบ่งเป็น ทาวน์เฮาส์ 9,159 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 5,098 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 3,587 ล้านบาท และ โครงการในต่างประเทศ 93 ล้านบาท ในส่วนของรายได้บริษัทสามารถทำได้ 18,810 ล้านบาท เติบโต 22.7% และมีกำไรสุทธิ 2,935 ล้านบาท เติบโต 34.5%โดยรายได้หลักมาจากสินค้าประเภททาวน์เฮาส์ 60% บ้านเดี่ยว 23% คอนโดมิเนียม 16% และจากโครงการในต่างประเทศ 1%
นายทองมา กล่าวต่อว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ใน กทม.และปริมณฑลในปี 2557 มีแนวโน้มเติบโตลดลงประมาณ 7.2% หรือมีมูลค่า 323,300 ล้านบาท แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 59,811 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 95,990 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 161,280 ล้านบาท และอื่นๆ 6,219 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มตลาดจะมีอัตราเติบโต 6% เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว
เชื่อเหตุอาคารถล่มไม่กระทบความเชื่อมั่นลูกค้าคอนโดฯ
นายทองมา กล่าวแสดงความเห็นกรณีโครงการที่พักอาศัยถล่มลงมาทับคนงาน ในย่านรังสิตว่า จากเหตุการณ์อาคารถล่มบริษัทเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคจะยังเชื่อมั่นต่อการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยตามปกติ โดยพิจารณาจากบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ ดูจากผลงานการก่อสร้างที่ผ่านมา และกรณีที่เกิดขึ้นเชื่อมั่นว่าจะยิ่งทำให้ผู้บริโภคตรวจสอบผลงานต่างๆ ของแต่ละบริษัทมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย
“อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วในการก่อสร้างอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัย จะไม่มีปัญหาการถล่มแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการรีบก่อสร้าง หรือไม่ก็ตาม หากตั้งแต่การออกแบบก่อสร้าง ไปจนถึงการก่อสร้าง การควบคุมงานก่อสร้างมีคุณภาพ และมาตรฐานทุกขั้นตอน เพราะโดยปกติแล้ว การก่อสร้างอาคารต่างๆ จะต้องให้รับน้ำหนักได้ 2 เท่าอยู่แล้ว และในส่วนของบริษัท ยืนยันว่าทุกขั้นตอนมีมาตรฐานแน่นอนตามกฎระเบียบ เนื่องจากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงมั่นใจว่า ผู้บริโภคที่เลือกซื้อที่อยู่อาศัยของบริษัทจะไม่มีผลกระทบด้านการตัดสินใจซื้อ” นายทองมา กล่าว