ซีบีอาร์อี ระบุ คอนโดฯ ใจกลางซีบีดี ยังมีแนวโน้มเติบโตสูง เหตุซัปพลายใหม่ขยายตัวไม่มากเท่ากับความต้องการซื้อ เผยสัดส่วนน้อยกว่า 20% ของคอนโดฯ ทั้งหมดใน กทม. ชี้ปัญหาการเมืองไม่กระทบการลงทุน อย่างเช่น คิวเฮ้าส์ ซื้อที่ดินหัวมุมสุขุมวิท ราคา 1.8 ล้านต่อ ตร.ว. ขณะที่อัตราการปล่อยกลับมามีผลตอบแทนสูงขึ้นในรอบ 20 ปี
ซีบีอาร์อี ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก เปิดเผยว่า จากการที่บางฝ่ายมีความวิตกกังวลในเรื่องภาวะโอเวอร์ซัปพลายในตลาดคอนโดมิเนียมของกรุงเทพฯ (กทม.) นั้น ซีบีอาร์อี เชื่อว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางเมือง หรือซีบีดีของกรุงเทพฯ อยู่ในสภาวะที่แตกต่างจากตลาดคอนโดมิเนียมในย่านรอบนอกใจกลางเมือง หรือมิดทาวน์ และย่านชานเมืองเป็นอย่างมาก
จากข้อมูลของแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี พบว่า ปริมาณคอนโดมิเนียม โครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นในย่านศูนย์กลางของใจกลางเมือง (ซีบีดี) ซึ่งได้แก่ สุขุมวิท ลุมพินี สาทร พญาไท และริมแม่น้ำ มีจำนวนน้อยมาก ปัจจุบันมีคอนโดมิเนียมในย่านดังกล่าวราว 100,000 ยูนิต และมีอีกประมาณ 26,000 ยูนิต ที่กำลังอยู่ในระกว่างการก่อสร้างและมีกำหนดจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปีจากนี้ ปริมาณคอนโดมิเนียมในปัจจุบัน และคอนโดมิเนียมใหม่ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ คิดรวมเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 20% ของคอนโดมิเนียมทั้งหมดในกรุงเทพฯ
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีคอนโดมิเนียมเหลือขายในอาคารที่การก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวนน้อยมาก “เช่น เมื่อหลายปีก่อนเจ้าของโครงการมิลเลนเนียม เรสซิเดนซ์ 2 อาคาร ขายห้องชุดที่เหลืออยู่ในราคาลดพิเศษ ซึ่งห้องชุดดังกล่าวได้ขายหมดไปแล้ว และปัจจุบันมีผู้ที่ต้องการซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าวมากกว่าผู้ขาย” น.ส.พรพิมล พึ่งเขื่อนขันธ์ หัวหน้าแผนกซื้อขายที่พักอาศัย-รายย่อย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าว เหตุการณ์ในลักษณะนี้เป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นกับโครงการคอนโดมิเนียมที่มีคุณภาพเยี่ยม ตั้งอยู่บนทำเลที่เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งซีบีอาร์อีพบว่า คอนโดมิเนียมในลักษณะนี้ก็จะมีห้องชุดที่นำมารีเซลน้อยมาก
แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 แต่กลับพบว่า มีธุรกรรมการซื้อขายที่ดินในราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ตัวอย่างเช่น บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ คิวเฮ้าส์ หนึ่งในผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่รายงานว่า ได้ซื้อแปลงที่ดินขนาด 3 ไร่ บริเวณหัวมุมสุขุมวิทซอย 6 ไปในราคา 1.7-1.8 ล้านต่อตารางวา เพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงการคอนโดมิเนียมหรู
ราคาที่ดินที่สูงขึ้นหมายถึงว่า โครงการคอนโดมิเนียมที่จะเกิดขึ้นใหม่จะมีราคาแพงขึ้นไปอีก ซึ่งมีส่วนช่วยให้ราคาคอนโดมิเนียมที่การก่อสร้างแล้วเสร็จในปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย
กรุงเทพฯ เป็นตลาดที่มีความซับซ้อน และการกำหนดราคาคอนโดมิเนียมในปัจจุบันมิได้มาจากทำเลที่ตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบด้วยปัจจัยอื่นร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นอายุของอาคาร คุณภาพการออกแบบ วัสดุที่เลือกใช้ จำนวนห้องที่มีการเสนอขาย และความเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้เช่า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้โครงการนั้นๆ เป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการซื้อเพื่อนำมาปล่อยเช่า ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้คอนโดมิเนียมที่แม้จะตั้งอยู่ในทำเลที่ใกล้เคียงกันก็อาจมีราคาที่แตกต่างกันมากได้
ในบางทำเล ซีบีอาร์อี พบว่า เจ้าของคอนโดมิเนียมบางห้องพยายามที่จะขายคอนโดมิเนียมที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ในราคาที่มากกว่า 50,000 บาทต่อตารางเมตร ในขณะที่เจ้าของคอนโดมิเนียมที่การก่อสร้างเพิ่งแล้วเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ และอยู่ห่างออกไปไม่ถึง 100 เมตร เสนอขายในราคาสูงกว่า 130,000 บาทต่อตารางเมตร
นอกจากนี้ ค่าเช่าของคอนโดมิเนียมที่นำมาปล่อยเช่าให้แก่ชาวต่างชาติกำลังปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เนื่องมาจากจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้น ผู้เช่าชาวต่างชาติหลายรายต้องการเช่าห้องขนาด 2-3 ห้องนอน ในขณะที่จำนวนที่พักอาศัยขนาดดังกล่าวทั้งในอพาร์ตเมนต์ (อาคารที่มีเจ้าของเดียว) และในคอนโดมิเนียม (อาคารที่มีเจ้าของร่วมหลายคน) กลับไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน มีคอนโดมิเนียมขนาด 3 ห้องนอน ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในย่านใจกลางเมืองเพียง 2% เท่านั้น เนื่องจากราคาเช่าปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้ราคาขายคอนโดมิเนียมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ผู้เช่าชาวต่างชาติมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสภาวะที่การลงทุนในรูปแบบอื่นให้ผลตอบแทนในระดับต่ำ มีสถาบันการเงินเพียงไม่กี่แห่งที่ให้ดอกเบี้ยสำหรับการฝากประจำ 12 เดือน ในอัตราที่สูงกว่า 2% ต่อปี ในขณะที่อสังหาริมทรัพย์ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า พร้อมทั้งยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
“บางคนที่คาดหวังว่าราคาคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางเมืองจะลดลงโดยมีสาเหตุจากเหตุการณ์ทางการเมืองนั้นอาจจะต้องพบกับความผิดหวัง แต่กลับกันคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางเมืองมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่ราคาจะลดลง” นายเจมส์ พิทชอน กรรมการบริหาร ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าว