“สุกิจ” ฟันธงหุ้นไทยครึ่งปีหลังพลิกกับฟื้นตัว คงเป้า SET INDEX ปีนี้ 1,500 จุด จากนักลงทุนส่วนใหญ่ที่เชื่อมั่นการบริหารงานของ คสช. ส่วน “พีรพงศ์” มอง บจ.ไทยมีศักยภาพแกร่ง หนีความเสี่ยงในประเทศขยายการลงทุนกลุ่มประเทศ AEC เพิ่มมากขึ้น รองรับความต้องการของตลาด ขณะที่ “เบญจรงค์” เชื่อเม็ดเงินอัดฉีดเศรษฐกิจของ คสช. กระตุ้นรากหญ้าและ SME
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) (MBKET) กล่าวในงานสัมมนา Capital Market Research Forum ครั้งที่ 1/2557 ในหัวข้อ มุมมองการลงทุนภายใต้จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะปรับตัวขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้คลี่คลายลงไปแล้ว โดย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ประมาณการว่า ดัชนี SET INDEX หุ้นมีโอกาสแตะ 1,500 จุดได้ ซึ่งทิศทางความเป็นไปได้ที่จะปรับฟื้นตัวขึ้นมานั้น จะอยู่การแสดงวิสัยทัศน์สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และผู้ประกอบการ ตลอดจนถึงการบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่ดัชนีที่ปรับตัวขึ้นคาดว่าจะสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่จะขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 2.5 ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มที่จะเติบโตร้อยละ 10 ซึ่งมาจากกำไรของหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มสื่อสาร และหุ้นกลุ่มพลังงาน
“ในปีหน้าทิศทางเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นจากปีนี้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 4 ซึ่งจะทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตได้ร้อยละ 11 ส่งผลใด้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปีหน้าอยู่ที่ระดับ 1,650 จุดได้ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง จะทบทวนตัวเลขต่างๆ อีกครั้งในไตรมาส 3 ปีนี้ ส่วนการลงทุนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว พบว่า 4 ประเทศที่มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ หรือ QE คือ สหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น ตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นไปมากแล้วเมื่อปีก่อน ดังนั้น ขอให้นักลงทุนพิจารณากำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก มากกว่าพิจารณาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”
ขณะที่ความกังวลเกี่ยวในเรื่องของปัญหาสหรัฐฯ ต่อการที่ลดอันดับเรื่องการค้ามนุษย์ของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด หรือ Tier 3 และสหภาพยุโรป (อียู) ลดความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยนั้น นักลงทุนจะต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะรุนแรงขึ้นถึงขั้นคว่ำบาตรสินค้าไทยหรือไม่ ซึ่งถ้าหากทางอียูคว่ำบาตรสินค้าไทย หรือชะลอการสั่งซื้อ หรือส่งมอบสินค้าจะกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งตลาดสหรัฐฯ และตลาดยุโรปเป็นตลาดหลักที่สำคัญซึ่งมีสัดส่วนการสั่งซื้อสินค้าจากไทยในปริมาณมาก ทั้งนี้ เบื้องต้นมีความเป็นไปได้สถานการณ์จะไม่มีความรุนแรง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง และสินค้าเกษตร จะยังคงมีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีจำนวนที่ลดลง แต่ไม่มากนัก โดยการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าจะเป็นระยะเพียงชั่วคราวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการปรับปรุงการผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านนายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวงมองว่า แนวโน้มการลงทุนในปีนี้ยังเน้นที่กลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง โดยบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่งได้ออกไปลงทุนขยายตลาดเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการสร้างกำไรให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ของไทย โดยเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อใช้ศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนไทยไปลงทุนในอาเซียน เช่น ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจขนส่งสินค้าและลอจิสติกส์ และคลังสินค้า
ขณะที่ นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 2 มาจากความคาดหวังนโยบายของ คสช.ที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ นโยบายของ คสช.คาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ทั้งหมดในปีนี้ ยกเว้นการจ่ายเงินชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว 90,000 ล้านบาท ที่ช่วยทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบรากหญ้า และและธุรกิจ SME มากขึ้น ขณะที่การจัดทำงบประมาณปี 2558 จะสามารถเบิกจ่ายได้ทันตามปกติ ทั้งนี้ ต้องรอติดตามการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะเริ่มในปี 2558 โดยเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้น 600,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2558 เพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน