โบรกเกอร์-กองทุน ประสานเสียง หากเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงยกเลิกสิทธิทางภาษีกองทุน LTF RMF ส่งผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นระยะสั้น เชื่อนักลงทุนปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจพิจารณานำมาใช้ในระยะเวลาที่เหมาะสม
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าจะมีการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (capital gain tax) และยกเลิกสิทธิประโยชน์ภาษีกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ LTF และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว RMF ส่งกระทบจิตวิทยาการลงทุนกดดันความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า จนถึงปัจจุบันยังมีการนำประเด็นดังกล่าวเข้ามาหารือ หรือสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ และวาณิชธนกิจแต่อย่างใด
นายสุกิจ แสดงทรรศนะส่วนตัวเกี่ยวกับกระแสข่าวดังกล่าว ว่า การพิจาณาจะนำกฎเกณฑ์ใดมาใช้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละช่วงเวลา นักลงทุนตั้งเข้าใจว่า ณ เวลาที่ผ่อนผันการจัดเก็บภาษีเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีผู้สนใจลงทุนในตลาดทุน การปรับลดภาษีถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจเข้ามาลงทุน ดังนั้น หากช่วงเวลา และปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป การพิจารณาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมก็ถือเป็นอำนาจของผู้มีหน้าที่กำกับดูแล
“ต้องดูด้วยว่าปัจจัยประกอบการพิจารณาแต่ละช่วงเวลาเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร ไม่มีใครตอบได้ว่ากฎใดควรใช้เมื่อไหร่ ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับผู้พิจารณาว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้หรือไม่ ซึ่งถ้านำมาใช้ตอนนี้ผู้ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบคงมีประมาณกว่า 1 ล้าน ส่วนผลกระทบที่เกิดต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็น่าจะเป็นเพียงระยะสั้น เบื้องต้นยังไม่มีรายงานเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนของนักลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศที่เก็บภาษี กับกลุ่มประเทศที่ไม่เก็บภาษีอย่างชัดเจนจึงไม่สามารถตอบได้ว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้ ณ เวลานี้หรือไม่” นายสุกิจ กล่าว
ขณะที่ นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทจัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด หรือ บลจ.วรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในไทยมี 12-13% หากยกเลิกสิทธิประโยชน์ภาษีกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ LTF และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว RMF ที่จะหมดลงในปี 2559 ว่า อาจส่งผลให้เงินลงทุนส่วนนี้จะหายไป และทำให้สัดส่วนนักลงทุนสถาบันลดลงไปอีกประมาณ 2-3% กระทบต่อการสร้างสมดุลของนักลงทุนในตลาดเพียงระยะสั้นเท่านั้น ส่วนเงินลงทุนหลังปี 2559 คาดว่าจะหายไปประมาณ 50%
“แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบตลาดหุ้นมากนัก เพราะเป็นการทยอยขายออก ในส่วนของ บลจ.วรรณ เองคงรอดูแรงขายว่าสุดท้ายเหลือเงินในกองทุนมากน้อยเพียงไหน แต่ถ้าเหลือน้อยมากคงปิดกอง และแนะนำนักลงทุนย้ายเงินไปลงทุนกองหุ้นปกติหรือกองทุนอื่นต่อไป” นายวิน กล่าว
เช่นเดียวกับ นายพงศ์พิเชษฐ์ นานานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า หากภาครัฐไม่ต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีกองทุน LTF และ RMF ที่จะหมดลงในปี 2559 นั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสร้างสมดุลระหว่างนักลงทุนสถาบัน กับนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในตลาดหุ้นมีไม่ถึง 10% โดยสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยมีสูงถึงเกือบ 70% และเชื่อว่านักลงทุนสถาบันจะโยกย้ายเม็ดเงินลงทุนออกจากกองทุน LTF เข้าไปลงทุนในกองหุ้นปกติแทน ส่งผลให้เม็ดเงินออมระยะยาวจะหายออกไปประมาณ 50% ปัจจุบันมีเม็ดเงินลงทุนในกองทุน LTF ประมาณ 230,000 ล้านบาท และ RMF ประมาณ 150,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่มีกระแสข่าว นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธาน กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกมาแสดงทรรศนะว่า ไม่เห็นด้วยหากจะมีการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพราะขณะนี้สัดส่วนนักลงทุนกว่า 50% เป็นรายย่อย หากมีการจัดเก็บภาษีก็จะกระทบต่อนักลงทุนรายย่อย และจะมีผลต่อการส่งเสริมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น โดยย้ำอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัจจุบันการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นการลงทุนของนักลงทุนหลากหลายกลุ่ม ไม่ใช่แค่ช่องทางลงทุนของผู้มีฐานะดีเท่านั้น