ก.ล.ต. สนับสนุนสถาบันไทยพัฒน์ จัดทำดัชนีชี้วัดเพื่อประเมินระดับการพัฒนาด้าน CSR และการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันสำหรับบริษัทจดทะเบียน ด้วยตัวชี้วัดตั้งแต่ระดับ 0 ถึง ระดับ 5 เป็นครั้งแรกของไทย บริษัทจดทะเบียนสามารถนำผลการประเมินไปพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น โดยในปีแรกคาดว่าบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งจะได้ระดับที่ 1 หมายถึงบริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญ โดยมีเจตนารมณ์ในการปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมทั้งสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบ
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ปัจจุบันผู้ลงทุนเปลี่ยนมุมมองการลงทุนที่มุ่งไปสู่การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน นอกจากพิจารณาผลประกอบการเพียงอย่างเดียว ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญ และผลักดันการพัฒนาความยั่งยืนในบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้มีผลประกอบการที่ดีอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับสังคมที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยการดำเนินงานพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนไทยจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือ 3 ด้านให้ทำงานพร้อมๆ กัน คือ (1) Self Discipline คือ การที่บริษัทจดทะเบียนมีความตั้งใจสนใจที่จะดำเนินการเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตน (2) Market Discipline การสร้างแรงผลักดันทางสังคม และ (3) Regulatory Discipline คือ การออกกฎเกณฑ์ที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติ อาจกล่าวได้ว่า เรื่อง CSR และการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันเป็น 2 เรื่องหลักสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาความยั่งยืน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีตัวชี้วัดการประเมินการดำเนินการที่ชัดเจน จึงเป็นที่มาของแนวคิดการออกแบบตัวชี้วัดความคืบหน้าการพัฒนาด้านดังกล่าวของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งสอดคล้องกันกับทิศทางการดำเนินการของสถาบันไทยพัฒน์ ดังนั้น ก.ล.ต. จึงสนับสนุนให้สถาบันไทยพัฒน์ออกแบบตัวชี้วัดที่อ้างอิงจากกรอบการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานสากลเป็นครั้งแรกของไทย เพื่อใช้ประเมินระดับการพัฒนาทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ CSR Progress Indicator และ Anti-corruption Progress Indicator โดยจะแสดงระดับการพัฒนาตั้งแต่ระดับเริ่มต้น จนถึงระดับสูงสุดของการพัฒนาการประเมินบริษัทจดทะเบียนไทยด้วยตัวชี้วัดด้าน CSR และการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน จะเป็นประโยชน์สำหรับบริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง เนื่องจากจะเป็นข้อมูลที่ทำให้ทราบถึงระดับการพัฒนาของตนเอง รวมถึงเป็นโอกาสดีที่จะได้นำข้อมูลผลการประเมินมาใช้ประกอบการคิดกลยุทธ์ทางธุรกิจ และเมื่อบริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจด้วยความคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรอบ ตั้งแต่ระดับกิจการ สู่ระดับชุมชน และระดับสังคม ย่อมส่งผลให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนต่อไป”
ก.ล.ต. ขอชื่นชมบริษัทจดทะเบียนไทยว่า ที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวมาก อย่างไรก็ตาม ระดับการพัฒนาแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกัน ก.ล.ต. จึงคาดหวังให้บริษัทได้ตระหนักในความสำคัญ และพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปทิศทางที่ทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงตามศักยภาพของแต่ละบริษัท และคาดว่าในปี 2557 จะมีการพัฒนาการอย่างน้อยในระดับเริ่มต้น หรือระดับที่ 1 หมายถึงบริษัทมีเจตนารมณ์ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และสามารถสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทยอีกจำนวนมากที่มีการพัฒนาการไปมากแล้วก็สามารถใช้ตัวชี้วัดดังกล่าวเพื่อจะดำเนินการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป นอกจากนี้ ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายยังสามารถนำผลประเมินมาประกอบเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำเนินธุรกิจหรือพิจารณาลงทุน โดยผลการประเมินคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 จะถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ต่อไป
นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวถึงการทำงานร่วมกันในครั้งนี้กล่าวว่า “สถาบันไทยพัฒน์ได้รับความไว้วางใจจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในการให้เป็นผู้ประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ถือเป็นภารกิจที่สอดรับต่อการดำเนินงานตามแนวทาง “การร่วมมือกัน” ของสถาบัน ด้วยการใช้ศักยภาพจากการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กร เข้าเป็นหุ้นส่วนการดำเนินงานในทางที่เสริมสมรรถภาพซึ่งกันและกัน ทำให้สามารถขยายผลกระทบการทำงานในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคม (Social Partnership) โดยใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรในทิศทางที่เสริมกันและทวีคุณค่ามากกว่าการทำงานโดยองค์กรเดียว”
การประเมินระดับ CSR และระดับการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันสำหรับบริษัทจดทะเบียนแบ่งเป็น 5 ระดับ มีผลคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 5 โดยการประเมิน CSR ระดับที่ 1 Basic หมายถึงการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ขององค์กรในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับเจตจำนงในเชิงกลยุทธ์ และสามารถสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรได้รับทราบ ระดับที่ 2 Engaged หมายถึงการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ขององค์กรในการดูแลผลกระทบจากการดำเนินงาน ไม่ให้เกิดปัญหากับชุมชน หรือสังคมที่อยู่รายรอบแหล่งดำเนินงาน ระดับที่ 3 Integrated หมายถึงการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการเปิดโอกาสให้ชุมชน และสังคมได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานในฝั่งต้นน้ำ หรือในฝั่งปลายน้ำของห่วงโซ่ธุรกิจ ระดับที่ 4 Innovative หมายถึงการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างกิจการ และสังคม ที่ครอบคลุมการดำเนินงานใน Value Chain และเป็นการทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง สำหรับระดับสูงสุดของการพัฒนาความยั่งยืนคือ ระดับที่ 5 Sustained หมายถึงการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการวางแนวทาง และการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน คำนึงถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบทั้งระบบนิเวศ รวมทั้งสามารถเปิดเผยรายละเอียดของการดำเนินงานได้ในทุกแง่มุม
สำหรับประเมินระดับระดับการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันแบ่งออกเป็น 5 ระดับเช่นกัน โดยระดับที่ 1 Committed หมายถึงการแสดงให้เห็นถึงคำมั่นจากผู้บริหารสูงสุด และขององค์กรโดยมติ และนโยบายของคณะกรรมการในเรื่องการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน ระดับที่ 2 Declared หมายถึงการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นโดยการประกาศเจตนารมณ์เข้าเป็นแนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ระดับที่ 3 Established หมายถึงการแสดงให้เห็นถึงระดับขอบเขตของนโยบายของบริษัท เช่น ไม่จ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต่อต้านผู้เกี่ยวข้อง การสื่อสารและฝึกอบรมแก่พนักงานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบาย และแนวปฏิบัติในการต่อต้านคอร์รัปชัน ระดับที่ 4 Certified หมายถึงการแสดงให้เห็นถึงการนำไปปฏิบัติโดยมีการสอบทานความครบถ้วนเพียงพอของกระบวนการทั้งหมดจากคณะกรรมการตรวจสอบ หรือผู้สอบบัญชีที่ ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ การได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือได้ผ่านการตรวจสอบเพื่อให้ความเชื่อมั่นอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานภายนอก และระดับสูงสุดของการพัฒนาระดับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันคือ ระดับที่ 5 Extended หมายถึงการแสดงให้เห็นถึงนโยบายที่ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ปรึกษา ตัวกลาง หรือตัวแทนธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ