ก.ล.ต.เร่งเดินหน้าดัชนีวัดความคืบหน้าต่อต้านทุจริต-คอร์รัปชันให้แล้วเสร็จในไตรมาส 3 หวังใช้เป็นเกณฑ์ยกคุณภาพบริษัทจดทะเบียนไทยให้มีคุณภาพ และโปร่งใส่ ชี้ที่ผ่านมามี บจ.ผ่านเกณฑ์แค่ 9 แห่ง จาก 302 บริษัท ขณะที่สถิติคดีทุจริตตลาดหุ้น 382 คดี จัดการได้เพียง 7% อีกทั้งหลายบริษัทยังไม่กล้าจ่ายเกรงกระทบธุรกิจ
นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ จัดทำดัชนีชี้วัดความคืบหน้าต่อต้านทุจริต-คอร์รัปชันของบริษัทจดทะเบียน (Anti-Corruption Progress Indicator) และดัชนีชี้วัดความคืบหน้าด้าน CSR (CSR Progress Indicator) ให้แก่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 ดัชนีจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ เพื่อสามารถทำการตรวจสอบ และชี้วัดบริษัทจดทะเบียนจากแบบรายงานข้อมูล 56-1 ของบริษัทจดทะเบียนที่ได้มีการแจ้งให้ บจ.จัดทำในงบปี 2556
“ดัชนีดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือชี้วัดเพื่อกระตุ้นให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนมีความโปร่งใส รวมไปถึงให้ประโยชน์ต่อสังคมด้วย ซึ่งดัชนีดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 5 ระดับ โดยในส่วนของ Anti-Corruption Progress Indicator จะมี 1.ระดับ Committed 2.ระดับ Declared 3.ระดับ Establissed 4.ระดับ Certified และ 5.ระดับ Expended ซึ่งถือว่าดีที่สุด ขณะที่ดัชนี CSR Progress Indicator จะแบ่งเป็น 5 ระดับเช่นเดียวกัน คือ 1.Basic 2.Engaged 3.Integrated 4.Innovative และ 5.Sustained”
นายชาลี กล่าวว่า การจัดทำดัชนีดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนไทยมีคุณภาพ เพราะจะชี้ให้เห็นเลยว่าบริษัทไหนอยู่ระดับใด ซึ่งบริษัทที่เกณฑ์ดัชนีอยู่ในระดับต่ำ จะต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้ใกล้เคียงกับกลุ่มที่อยู่ในระดับสูง เพราะส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์บริษัท ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริษัทจดทะเบียนในด้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอย่างมาก จากปัจจุบันมีแนวโน้มแย่ลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีคดีทุจริตในตลาดทุนทั้งสิ้น 382 คดี แต่สามารถบังคับใช้กฎหมาย และนำผู้ทำผิดมาลงโทษได้เพียง 7% เท่านั้น โดยปี 2556 ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของประเทศไทยที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พบว่า ประเทศไทยมีอันดับที่ลดลงโดยมีเพียง 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 อยู่ในอับดับที่ 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศทั่วโลก ลดลงจากปี 2555 ที่อยู่อันดับ 88
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.จะประสานงานไปยังภาคเอกชนในการรณรงค์สร้างเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน และแนวร่วมการต่อต้านคอร์รัปชัน (CAC) ซึ่งปัจจุบันมี บริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการรับรองเพียง 9 บริษัทแห่งเท่านั้น จากบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว 302 บริษัท ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับไม่สูงเมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่กว่า 600 บริษัท
“เบื้องต้นเราจะเน้นที่บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเป็นหลัก เนื่องจากมีการทำงานเกี่ยวข้องกัน โดยขณะนี้มีผู้ประกาศเจตนารมณ์มาแล้ว 40 บริษัท จากทั้งหมด 63 บริษัท เป้าหมายคือ อยากให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนทั้งหมดผ่านการรับรองมาตรฐานด้านทุจริตคอร์รัปชันจาก CAC ให้ได้ทั้งหมด แต่ขณะนี้มีอยู่เพียง 9 บจ.เท่านั้น ซึ่งเราจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์โครงการหมาเฝ้าบ้าน ผลักดันให้ภาครัฐทำ Integrity Pact ในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันพบว่า บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะหยุดจ่ายเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อความสะดวกในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่ง ก.ล.ต.เองจะออกแนวปฏิบัติให้บริษัทเหล่านี้เปิดเผยนโยบายต่างๆ ในการดำเนินงานให้มีความโปร่งใส” นายชาลี กล่าว
ทั้งนี้ แผนงานการจัดทำดัชนีต่างๆ และการดึงบริษัทจดทะเบียนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น เป็นไปตามแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนภายใน 5 ปี ผ่าน 3 เรื่องหลัก คือ 1.CG in Substance การพัฒนา CG ซึ่งเน้นที่การปฏิบัติจริง 2.CSR in Progress การทำให้ CSR หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปกติในการทำธุรกิจ และ 3.Anti-Corruption in Practice การให้ความสำคัญในเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจังเพื่อเป็นแรงผลักดันไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ ซึ่งปัจจุบัน มีบริษัททะเบียนที่เป็นต้นแบบในการดำเนินงานที่ดีดังกล่าวอยู่แล้ว เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น (INTUCH) และธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เป็นต้น