ในช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมา ราคาทองคำในประเทศไทย และในตลาดต่างประเทศยังทรงตัวอยู่ได้ โดยราคาทองคำในประเทศมีระดับราคาต่ำสุดที่ 19,600-19,700 บาทต่อน้ำหนักทอง 1 บาท และสูงสุดที่ 19,500-20,000 บาทต่อน้ำหนักทอง 1 บาท
สาเหตุที่ทำให้ราคาทองคำกลับมาสูงขึ้น มาจากความตึงเครียดในยูเครนตะวันออก เพราะประชาชนเชื้อสายรัสเซียประท้วงต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากยูเครน เช่นเดียวกับไครเมีย ที่ไปขึ้นตรงกับรัสเซีย ทำให้นักลงทุนกลับมากังวลว่าจะเกิดวิกฤตการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาทองคำขยับสูงขึ้นก็เผชิญกับการขายทำกำไรทำให้ราคาอ่อนตัวลงมาเล็กน้อย
ทั้งนี้ คาดว่าราคาทองคำในตลาดต่างประเทศน่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1,280-1,310 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และในระยะสั้นอาจแตะที่ระดับ 1,275.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และสูงสุดที่ 1,312.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศจะอยู่ที่ระดับ 19,400-19,500 บาทต่อน้ำหนักทอง 1 บาท และสูงสุดที่ 20,200-20,300 บาทต่อน้ำหนักทอง 1 บาท โดยนักลงทุนต้องคำนึงด้วยว่าช่วงเวลา 1-2 สัปดาห์นี้จะเป็นวันหยุดยาดทั้งในประเทศคือ เทศกาลสงกรานต์ และในต่างประเทศคือ เทศกาลอีสเตอร์ ธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดทองคำ และตลาดฟิวเจอร์ปิดทำการ ดังนั้น จึงแนะนำให้นักลงทุน “ปิดสถานะ” ของตนเองป้องกันความเสี่ยง
ในช่วงระยะเวลาที่การค้าทองคำแท่ง และทองรูปพรรณลดลง ร้านค้าทองขนาดเล็กโดยเฉพาะย่านฝั่งธนฯ ที่เปิดเป็นห้องแถวมักอ้างว่าเป็นร้านค้าส่งทองรูปพรรณ ทั้งที่จริงแล้วเป็นร้านค้าปลีก โดยพฤติกรรมจะให้ลูกค้าที่สั่งทองโอนเงินเข้าบัญชีก่อนส่งทองไปให้ ซึ่งช่วงแรกก็ส่งทองไปให้ตามปกติ แต่เมื่อทำธุรกรรมไประยะหนึ่งจะปิดกิจการหายไปทำให้มีผู้เสียหายหลายราย เช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่โฆษณาว่าทำธุรกรรม On Line 24 ชั่วโมง นักลงทุนต้องสังเกตุว่าราคาทองที่เข้าลงทุนเป็นราคาที่สามารถอ้างอิงได้ตามราคาตลาดหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะหลอกลวงว่า “เป็นราคาในตลาดต่างประเทศ” ระยะแรกของการลงทุนก็ดูเหมือนจะได้กำไร แต่พอลงทุนไประยะหนึ่งก็จะต้อง “ตัดขาดทุน” จนถึงปิดกิจการหนี้ไป สร้างความเสียหายรวมถึงเสียชื่อเสียงด้วย
มีตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ หรือ ISM ปรับตัวสูงขึ้นมา 0.5 จุดอยู่ที่ 53.7 จุดในเดือนมีนาคม จากเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 53.2 ซึงปรับตัวขึ้นจากการเติบโตของภาคการผลิตและยอดสั่งซื้อสินค้า ประกอบกับตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯ เดือนมีนาคมทรงตัวอยู่ที่ 6.7% เนื่องจากการจ้างงานที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานแบบชั่วคราวไม่ใช่งานประจำ แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนสหรัฐฯ ยังไม่มีความมั่นใจในการขยายกิจการอย่างเต็มที่ จึงพยายามตัดค่าใช้จ่ายลง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ยังคงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ 0-0.25% ไว้ต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง
หันมาดูกลุ่มยูโรโซน ซึ่งมีสมาชิกถึง 17 ประเทศ ในปี 2013 GDP ติดลบอยู่ที่ 0.3% และคาดว่าในปี 2014 GDP จะขยายตัวได้ถึง 1% แต่หากพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.5% ห่างไกลจากที่คาดการณ์ไว้ที่ 2% เป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวลง และเมื่อหันมาดูตัวเลขคนว่างงานที่ยังสูงถึง 19 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 11.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ 0.25% และตลาดทุนเริ่มกังวลต่อสภาพวะเงินฝืด ทำให้ต้องมีการดำเนินมาตราการผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินทรัพย์ตามแบบสหรัฐฯ และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เตือนธนาคารกลางยุโรปให้เร่งจัดการปัญหาเงินฝืดโดยเร็ว เพราะจะกระทบต่อการบริโภคสินค้า การผลิต และกระทบต่อการจ้างงาน โดยแนะนำให้ธนาคารกลางยุโรปใช้มาตรการผ่อนคลายทางการรเงิน หรือมาตราการ QE
ในขณะที่รัสเซีย กำลังเผชิญกับการต่อต้านจากนานาประเทศในการรับไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่ง จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของรัสเซีย รัฐบาลรัสเซียออกกฎหมายด้านภาษีฉบับใหม่ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดเล็ก หรือ SME ที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 15 คนมีผลประกอบการรายปีอยู่ที่ 60 ล้านรูเบิล และมีสินทรัพย์ที่ต่ำกว่า 100 ล้านรูเบิล ต้องเสียภาษี เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อใดที่ประธานาธิบดีปูติน ลงนามอนุมัติร่างกฎหมายภาษีฉบับดังกล่าว ผู้ประกอบการ SME จะมีต้นทุนเพิ่มถึง 2 เท่า โดยเฉพาะภาษีอสังหาริมทรัพย์ ในกรุงมอสโกที่สูงถึง 50% ทำให้ผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ดังกล่าวต้องแบกรับภาระเพิ่มถึง 3 เท่าทันที
หลังจากที่จีนเผชิญกับ “หนีเสีย” พุ่งสูงที่สุดในรอบ 2 ปี รัฐบาลจีนโดยธนาคารกลางเตรียมทดสอบฐานะการเงินภาคธนาคาร ตลอดจนส่งสัญญาณให้ธนาคารระงับการปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น ภาคอุตสาหกรรมที่มีการผลิตมากเกินไป ภาคอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทค้าเหล็ก ด้วยการตั้งคณะกรรมการกฎระเบียบภาคธนาคาร ทำการทดสอบฐานะทางการเงินของธนาคาร เพื่อให้สถาบันธนาคารมีฐานะทางการเงินที่เหมาะสมที่จะเผชิญความเสี่ยงด้านต่างๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนต้องเดินหน้าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการออกพันธบัตรมูลค่า150,000 ล้านหยวน เป็นการระดมเงินไปใช้ในการปรับปรุงเส้นทางรถไฟ ตลอดจนเตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนามูลค่า 2-3 แสนล้านหยวน เป็นช่องทางเพิ่มปริมาณเงินที่จะใช้เป็นทุนในการสร้างระบบรถไฟระยะทาง 6,600 กิโลเมตร ให้เชื่อมภาคกลาง และภาคตะวันตกของจีนเข้าด้วยกัน ตามแนวทางการพัฒนาความเป็นเมืองของรัฐบาลจีน โดยจัดตั้งเป็นหน่วยงานพิเศษขึ้นมาดูแลการออกพันธบัตรโดยเฉพาะ
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 57 เป็นต้นมา ประเทศญี่ปุ่น ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จาก 5% เป็น 8% ส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศปรับสูงขึ้นทุกชนิด ผู้บริโภคเริ่มจับจ่ายใช้สอยลดลง ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 6 ปี และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นจากระดับ +16 เป็น +17 เพราะเริ่มมีความหวังในสถานะธุรกิจ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นยังไม่สามารถวางใจได้เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ เงินเยนยังคงอ่อนค่าลงจนฉุดกำลังการบริโภคในประเทศไม่ขยับ เกิดการขาดดุลทางการค้า และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 2.3% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่น มีหนี้สาธารณะสูงถึง 245% ของ GDP ซึ่งถ้าไม่มีการหารายได้เพิ่มนอกเหนือจากการเก็บภาษี คาดว่าฐานะการคลังของญี่ปุ่นจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นมีภาระสูงมากในการเลี้ยงผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น