xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ความเดือดร้อนของชาวสวนยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ราคายาง ตลาดกลางยางพาราสงขลา เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันกิโลกรัมละ 0.38 บาท และ 0.55 บาท โดยราคายางแผ่นดิบแตะระดับ 68.68 บาท/กก. และ ยางแผ่นรมควันราคา 70.56 บาท/กก. เพราะได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)ไตรมาส 2 ปี 2556 ของสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.7 มากกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 1.1

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศเดินหน้ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณต่อไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน ประกอบกับดัชนีภาคการผลิตของจีนปรับตัวสูงขึ้นในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ยางยังคงซบเซา ขณะที่ปริมาณผลผลิตวัตถุดิบในตลาดเพิ่มขึ้น

นั่นจึงทำให้ความคาดหวังว่า ราคายางในตลาดโลกจะอยู่ที่ระดับ 120 บาท คงเป็นไปได้ยาก

ยกเว้นรัฐบาลจะรับจำนำ“ยางพารา”เหมือนข้าวเปลือก

“ราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้เกิดจากภาวะตลาดเศรษฐกิจโลก โดยขณะนี้มีสต็อกยางค้างอยู่ประมาณ 2 แสนกว่าตัน ที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งกระทรวงฯมีโครงการที่จะต้องมีการพัฒนายางของไทยให้ครบวงจร และเน้นการบริหารจัดการเรื่องตลาด เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีการประชุมไปครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งเน้นกลุ่มเกษตรกรที่เปิดกรีดแล้วประมาณ 1 ล้านราย ตัดโค่นยางที่มีอายุ 25 ปีไปแล้วนำไม้ยางมาแปรรูป” ยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ อธิบายปัญหาราคายาง และแนวทางแก้ไข

เขายังบอกอีกว่า“ราคายางที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ จ.นครศรีธรรมราช เสนอมากิโลกรัมละ 120 บาทนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะราคาในตลาดโลกเพียงแค่ 70 กว่าบาท ยิ่งซื้อยิ่งเป็นปัญหา ต้องหามาตรการปรับปรุง”

นั่นจึงทำให้รัฐบาลผลิตนโยบายที่ไม่ตรงกับความต้องการของเกษตรกรชาวสวนยางออกมา

โดยชาวสวนยางภาคใต้ได้รวมตัวกันประท้วง และประกาศว่า ชาวสวนยางทั่วประเทศจะประท้วงปิดถนนทั่วประเทศ หากรัฐบาลไม่เข้ามาช่วยพยุงราคายางพารา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลพยุงราคาน้ำยางที่ระดับ 100 บาทต่อกิโลกรัม ประกันราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ระดับ กิโลกรัมละ 120 บาท

ราคายางแผ่นรมควันเคยปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 148 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อปี 2554 ในสมัยที่ นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่าง 9 สิงหาคม 2554 - 18 มกราคม 2555

หลังจากนั้นราคาก็ปรับลดลงมา จน “ไอ้เต้น”ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ใช้ความโง่ของตัวเองประกาศว่า ราคายางจะไปอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม ในระหว่างทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วง 8 มกราคม 2555 - 27 ตุลาคม 2555

ทั้งๆ ที่ตลอดชีวิตไม่เคยจับมีดกรีดยาง เพราะบรรพบุรุษไม่ได้ทำสวนยางพารา

ที่สำคัญรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลับซ้ำเติมสถานการณ์โดยออกมาตรการแก้ไขปัญหาราคายาง โดยการให้เงินกู้

เหมือนแก้ปัญหาไข่ไก่แพง โดยบอกให้คนเลิกกินไข่...อะไรทำนองนั้น

ทั้งนี้ ผลประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบโครงการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนในวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยงของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารารายย่อย แบ่งเป็น

1. วงเงินที่ให้สถาบันเกษตรกรกู้เพื่อการแปรรูปยางเบื้องต้นวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการจัดสรรเงินกู้จำนวนดังกล่าว

2. สนับสนุนเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการแปรรูปยางพารา เพื่อใช้ขยายกำลังการผลิตและปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในการผลิตยางพาราและผลิตภัณฑ์แปรรูปวงเงิน 15,000 บาท โดยให้ธนาคารออมสินดำเนินการจัดสรรเงินกู้จำนวนดังกล่าว โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันอังคารที่ 3 ก.ย.ต่อไป

3. ให้นำเงินสงเคราะห์ที่เก็บจากผู้ส่งออกยาง หรือค่าเซส (CESS)มาสนับสนุนการโค่นยางพาราที่มีอายุมากกว่า 25 ปี ซึ่งปัจจุบันเงินค่า CESS มีอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยแนวทางการดำเนินการคือ จะสนับสนุนให้เกษตรกรบางส่วนเปลี่ยนจากการปลูกยางพาราไปปลูกพืชพลังงานที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น คือปาล์มน้ำมัน โดยเกษตรกรที่โค่นยางพารา และหันไปปลูกปาล์มน้ำมัน จะได้เงินสนับสนุนมากกว่าเกษตรกรที่โค่นยางพาราแล้วกลับไปปลูกยางพาราเหมือนเดิม

“โดยการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจำนวน 5,628 ล้านบาท จะชดเชยให้กับเกษตรกร 9.8 แสนราย ที่ปัจจุบันมีสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องและสามารถเปิดกรีดได้แล้ว พร้อมขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกยางกับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว การจ่ายเงินจะโอนผ่านธ.ก.ส.ในอัตรารายละไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินไร่ละ 1,260 บาท วิธีการนี้จะทำให้เกษตรกรได้รับเงินตรง และเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางที่แท้จริง ผิดกับปัจจุบันที่มีการชุมนุมเรียกร้อง”ยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายมาตรการสนับสนุนที่ไม่ไดช่วยเหลือชาวสวนยางแต่อย่างใด

ทั้งๆที่ สถานการณ์การปลูกยางในปัจจุบัน กำลังขยายตัวอย่างมาก

ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกยางในประเทศไทยมีประมาณ 19 ล้านไร่ จาก 1.5 ล้านครัวเรือน เกษตรกรผู้ปลูกยาง 9 ล้านคน เป็นพื้นที่กรีดได้ 15 ล้านไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้จำนวน 12 ล้านไร่ ส่วนภาคอีสาน มีพื้นที่ปลูกยาง 4 ล้านไร่ เป็นพื้นที่กรีดได้ 1 ล้านไร่

แต่พื้นที่ที่มีการขยายตัวของการเพาะปลูกมากที่สุดก็คือภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดบึงกาฬ มีการปลูกมากที่สุด ทั้งๆ ที่เพิ่งปลูกในปีแรก

"ไม่น่าแปลกใจที่การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำกลุ่มใหญ่จะเป็นภาคใต้ ซึ่ง ส.ก.ย. ได้รับรายงานจากพื้นที่ต่างๆ ว่าชาวสวนยางทั้งประเทศจะเคลื่อนไหวพร้อมกันวันที่ 3 ก.ย. นี้ เพราะต่างต้องการราคายางที่เพิ่มขึ้น "นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (ส.ก.ย. ) อธิบาย การชุมนุมของชาวสวนยางภาคใต้

ทั้งนี้ไทยเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติรายสำคัญของโลก โดยมีผลผลิตเฉลี่ยในแต่ละปีมากกว่า 3 ล้านตัน ความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 14 ของยางที่ผลิตได้ ขณะที่ปริมาณส่งออกในปี 2555 มีถึง 3.059 ล้านตัน จากปริมาณผลผลิตยางทั้งหมด 3.585 ล้านตัน เป็นการส่งออกในรูปวัตถุดิบเป็นหลัก ทำให้ราคายางพาราขึ้นอยู่กับกลไกตลาดโลก

ผลผลิตยางของไทยในปีนี้ มีจำนวน 3.2 ล้านตัน ลดลง 10 % จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากอีสานเกิดฝนแล้ง ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง โดยผลผลิตยางภาคใต้จะให้ผลผลิตสูงกว่ายางภาคอีสาน 10 % โดยผลผลิตรวมในภาคอีสานคิดเป็น 10 % ของผลผลิตยางทั้งประเทศ

“ตามข้อเท็จจริงแล้วชาวสวนยางส่วนใหญ่เป็น "เกษตรกรรายย่อย" ถือครองพื้นที่ปลูกยางไม่เกินรายละ 15 ไร่ มีสัดส่วนมากถึง 80 % ซึ่งแนวโน้มการถือครองดังกล่าวปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการ "แยกครอบครัว" จากรุ่นสู่รุ่น ขณะที่การถือครองในภาคอีสาน เกษตรกรมีพื้นที่อยู่มาก มีขีดความสามารถขยายพื้นที่ถือครองได้อีกมาก”ประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการ ส.ก.ย.ขยายความ

นั่นจึงทำให้เกิดการปิดถนนสายเอเชีย บริเวณแยกควนหนองหงษ์ รวมทั้งเส้นทางรถไฟบริเวณ บ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช

นำไปสู่ข้อรียกร้องจำนวน 8 ข้อ ได้แก่

1. ให้รัฐบาลประกันราคายางแผ่น 120 บาทต่อ กก. เศษยางหรือขี้ยางราคา 60 บาทต่อ กก.
2.ให้ประกันราคาปาล์มน้ำมันกก.ละ 6 บาท
3.ให้รัฐบาลมีคำตอบที่แน่ชัดภายใน 15 วัน
4.หากไม่มีคำตอบภายใน 15 วัน ทางกลุ่มเกษตรกรจะยกระดับการชุมนุม
5.ต้องไม่เอาผิดต่อผู้ชุมนุมในทุกๆ กรณีและทุกคน
6.ให้รับผิดชอบดูแลแก่ผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ ในเหตุการณ์ปะทะ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ให้ถึงที่สุด
7.ให้คืนเครื่องกระจายเสียง เต้นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ที่เจ้าหน้าที่ยึดไป
8.ให้ดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ ที่ใช้กำลังรุมทำร้ายผู้ชุมนุมตามกฎหมายจนถึงที่สุด

มีแต่“คนบ้า”กับ “คนฟั่นเฟือน”เท่านั้นที่คิดว่า ผู้ชุมนุมไม่ใช่ชาวสวนยาง เพราะแม้กระทั่งบรรพบุรุษของคนพูด ก็ยังไม่คิดเช่นนี้ !!!



กำลังโหลดความคิดเห็น