xs
xsm
sm
md
lg

“ธปท.” เกาะติด “ฟิทช์-มูดี้ส์” ห่วงไทยถูกลดเครดิต ต้นทุนการเงินพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธปท.” เกาะติด “ฟิทช์-มูดี้ส์” หลังไทยเสี่ยงถูกปรับลดเครดิต ชี้ความไม่แนอนทางการเมืองเริ่มส่งผลต่อการกู้ยืมในต่างประเทศสูงขึ้นแล้ว 0.2% หวั่นหากมีการปรับลดเครดิตไทยลงจริง ต้นทุนการเงินอาจสูงขึ้นอีก พร้อมคาดงบประมาณปี 58 อาจล่าช้าเกินหนึ่งไตรมาส หลังการเมืองยืดเยื้อ

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีสถาบันจัดอันดับเครดิตชื่อดัง ฟิทช์ เรทติ้ง และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส มีมุมมองอาจจะปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงอีก เนื่องจากมีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ โดยเฉพาะประเด็นจะมีผลกระทบต่อตลาดเงินมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวขึ้นกับการรับรู้ของตลาด เบื้องต้นเห็นว่าตลาดเริ่มรับรู้ไปบ้างแล้ว จากที่ค่าประกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของพันธบัตร Credit Default Swap (CDS) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 130 Basis points จากก่อนหน้านี้ อยู่ที่ 110 Basis points ซึ่งหากมีการปรับลดเครดิตของไทยลงจริงก็คงยังมีตลาดอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับรู้ และมีผลกระทบบ้าง โดยขณะนี้ Credit Default Swap ของไทยสูงว่าประเทศอื่น ทั้งมาเลเซีย ที่อยู่ในระดับ 105 Basis points และฟิลิปปินส์ 110 Basis points ดังนั้น ถ้าถูกปรับลดเครดิตลงจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐและเอกชนเพิ่มสูงขึ้นอีก

ขณะที่ ธปท.ประเมินความเป็นไปได้ในการจัดทำกรอบงบประมาณปี 2558 อาจล่าช้ากว่าเดิมที่คาดไว้ ทำให้บทบาทภาคการคลังน้อยลง แม้จะมีการดึงกรอบงบปี 2557 มาใช้อ้างอิงในการใช้จ่ายงบประจำไปก่อน แต่การลงทุนใหม่ และโครงการต่างๆ อาจจะไม่ได้มีการเบิกจ่ายมากเท่าที่คาดไว้ จึงยอมรับว่าจะทำให้แรงส่งเศรษฐกิจน้อยลง อีกทั้งจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนมีบทบาทลดลงตามไปด้วย

สำหรับกรณีค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนการปรับตัวของตลาดโลก หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติลดขนาด QE ลงเหลือ 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน แต่ยอมรับว่าเงินบาทบางช่วงอ่อนค่ากว่าสกุลอื่นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยปิดบัญชี และนำเงินกำไรส่งกลับประเทศ จึงทำให้มีเงินไหลออกเงินบาทจึงอ่อนค่าลง แต่มีผลกระทบไม่มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น