“เอสเอ็มอีแบงก์” เตรียมเข้าชี้แจง ก.คลัง ปล่อยกู้พลาดเป้า ระบุเหตุเน้นปล่อยสินเชื่อคุณภาพ และลูกค้ารีไฟแนนซ์ไปแบงก์อื่นกว่า 5 พันล้านบาท คาดทั้งปียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 9.4 หมื่นล้านบาท ส่วนแก้หนี้เน่าเหลือ 2.85 ล้านบาท เชื่อต้นปีหน้าคลังเพิ่มทุนให้อีก 2 พันล้านบาท
นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เตรียมชี้แจงต่อกระทรวงการคลังในกรณีปล่อยสินเชื่อไม่เป็นไปตามเป้าหมายในแผนฟื้นฟูที่กำหนดให้เอสเอ็มอีแบงก์ต้องปล่อยสินเชื่อมียอดคงค้างไม่น้อยกว่า 1.05 แสนล้านบาท โดยสาเหตุที่ไม่สามารถทำตามเป้าได้นั้น เนื่องจากต้องการเน้นเรื่องคุณภาพสินเชื่อและเรื่องของสภาพคล่องที่ยังไม่สมดุล คือมีเงินฝากระยะสั้นเอามาปล่อยกู้ระยะยาวมาก จึงต้องเร่งเรื่องการปรับโครงสร้างของแหล่งเงินทุนก่อน ประกอบกับที่ผ่านมามีลูกหนี้ที่มีหนี้ครบกำหนดก็หันไปใช้บริการธนาคารอื่นๆ ประมาณ 4-5 พันล้านบาท นอกจากนั้นมีการขอไถ่ถอนสัญญาก่อนครบกำหนดอีก 3-4 พันล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปีนี้ (2556) จะมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 9.4 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 6.5 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน (2555) ที่มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 9.9 หมื่นล้านบาท ส่วนเป้าหมายอื่นตามแผนฟื้นฟูที่สามารถทำได้ เช่น เรื่องการแก้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่คาดว่าจะแก้ไขให้เหลือ 2.85 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 28-29% ของสินเชื่อรวมภายในสิ้นปี จากปัจจุบันมีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนการวางระบบคอร์แบงกิ้ง คาดว่าต้นปีหน้า (2557) จะสามารถเปิดหาผู้รับวางระบบได้ และสิ้นปีคาดว่ามีกำไร 500 ล้านบาท
กก.ผจก.เอสเอ็มอีแบงก์กล่าวด้วยว่า ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า (2557) กระทรวงการคลังจะจัดสรรเงินเพิ่มทุนให้ 2 พันล้านบาท จากที่จัดสรรเงินเพิ่มทุนในปี 2556 แล้ว 555 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9% ซึ่งจะสามารถรองรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีหน้าที่คาดว่าจะมียอดคงค้างที่ระดับ 1 แสนล้านบาทได้
สำหรับเรื่องการปรับโครงสร้างแหล่งเงินทุน จากปัจจุบันมีเงินฝากระยะสั้นถึง 78% นั้น ได้ตั้งเป้าหมายปีหน้าให้มีเงินฝากระยะสั้นและยาวอยู่ที่ 50% ต่อ 50% โดยเตรียมออกบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (เอฟอาร์ซีดี) อายุ 5 ปี วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงต้นปี 2557 และเตรียมระดมเงินฝากระยะยาวในประเทศอีก 3-5 พันล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้ว่าจ้างให้ทางมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ทำการจัดเรตติ้งแล้ว คาดว่าได้เทียบเท่ากับพันธบัตรรัฐบาล และจากการสำรวจพบว่ามีกองทุน 4-5 กองทุนให้ความสนใจเอฟอาร์ซีดีดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้น 99% ออกไประดมทุนในตลาดต่างประเทศมากนัก เบื้องต้นคาดว่าต้นทุนทั้งหมดทั้งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการทำสวอปรวมแล้วจะไม่เกิน 4.25%
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *