xs
xsm
sm
md
lg

สบน.กางแผน 7 ปี รัฐจ้องก่อหนี้ 5 ล้านล้านบาท ยันไม่เสียวินัยการคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สบน.กางแผน 7 ปี รัฐจ้องก่อหนี้ 5 ล้านล้านบาท ทั้งกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน บริหารจัดการน้ำ ปรับโครงสร้างหนี้ แต่ย้ำยังอยู่ในกรอบวินัยการคลังไม่เกิน 50% ของจีดีพี

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.ได้มีการประมาณการแนวโน้มการก่อหนี้ของรัฐบาลในช่วง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2563 โดยรวมแผนการกู้เงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท และการกู้เงินในโครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องกู้เงินเฉลี่ยปีละ 6.9 แสนล้านบาท

โดยเฉลี่ยเป็นการกู้เงินใหม่ประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งแนวทางเบื้องต้นคือ ในปี 2558 เป็นการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2559 อยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

การกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้วงเงิน 2.9 แสนล้านบาท โดยแนวทางเบื้องต้น คือ ในปี 2558 เป็นการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ของพันธบัตรรัฐบาล วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ปี 2559 อยู่ที่ 2.47 แสนล้านบาท ปี 2560 อยู่ที่ 1.27 แสนล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 1.18 แสนล้านบาท และปี 2562 อยู่ที่ 2.08 แสนล้านบาท
 
การปรับโครงสร้างหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ในปี 2558 อยู่ที่ 8.63 หมื่นล้านบาท ปี 2559 อยู่ที่ 1.04 แสนล้านบาท ปี 2560 อยู่ที่ 2.71 แสนล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ปี 2562 อยู่ที่ 1.01 แสนล้านบาท เป็นต้น

โดยแนวทางการกู้เงินทั้งหมด จะไม่กระทบต่ออัตราหนี้สาธารณะ โดยยืนยันว่า หนี้สาธารณะของไทยจะยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่ไม่เกิน 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวถึงแนวทางการระดมทุนของรัฐบาล โดยการออกตราสารหนี้ปีงบประมาณ 2557 มีวงเงินอยู่ที่ 7.6 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้แบ่งเป็นการกู้เงินใหม่วงเงิน 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง วงเงิน 1.37 แสนล้านบาท และกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท รวมถึงเป็นการกู้เงินตามโครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 9 พันล้านบาท

นอกจากนี้ เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ วงเงินรวมทั้งสิ้น 3.61 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ของพันธบัตรรัฐบาล วงเงิน 2.31 แสนล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้เอฟไอดีเอฟ วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท

สำหรับรูปแบบในการระดมทุน จะมีการออกพันธบัตรรัฐบาล อายุ 5-15-30 และ 50 ปี เพื่อเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงมาตรฐานวงเงินรวมทั้งสิ้น 3.7 แสนล้านบาท และออกพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาท รวมถึงออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงิน 7.1 หมื่นล้านบาท พันธบัตรอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ วงเงิน 7.5 หมื่นล้านบาท และตราสารหนี้ที่ทยอยคืนเงินต้น อายุ 25 ปี วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท และอื่นๆ วงเงินรวม 3.4 หมื่นล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น