คลังเร่งหาเงินป้อนรัฐ เตรียมช่องทางกู้ระยะยาวด้วยการออกพันธบัตร 100 ปี หวังเก็บตุนไว้ให้ใช้จ่าย พร้อมคาดเสียงตอบรับจากนักลงทุนยังอบอุ่นเหมือนเดิม
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.มีแผนที่จะระดมทุนระยะยาวด้วยการกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรอายุ 100 ปี ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และวงเงินพันธบัตรจำนวนนี้ว่าควรจะเป็นเท่าใด
ปัจจุบัน พันธบัตรของกระทรวงการคลังที่มีอายุนานที่สุด คือ พันธบัตรรัฐบาลอายุ 50 ปี การออกพันธบัตรระยะยาวนี้จะเป็นเครื่องมือในการระดมทุนของรัฐบาลในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สบน.ได้สำรวจความสนใจจากบริษัทประกันที่เป็นผู้ซื้อพันธบัตร 50 ปี ของกระทรวงการคลัง ก็ได้รับเสียงตอบรับดี ต้องการซื้อพันธบัตรอายุ 100 ปี ที่รัฐบาลจะออกจำหน่าย
สำหรับพันธบัตรระยะยาวนี้ ปัจจุบันมีเพียงกลุ่มบริษัท ปตท. ได้ระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้อายุ 100 ปี พบว่า ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากเช่นกัน โดยมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 5.9% ต่อปี และธนาคารกรุงเทพ ที่จะออกหุ้นกู้อายุ 100 ปี จำหน่ายเช่นกัน
น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของการกู้เงินตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทาง สบน.ศึกษาว่า จะระดมเงินพันธบัตรอายุเท่าใด วงเงินแต่ละอายุมีจำนวนเท่าใด ซึ่งประเภทพันธบัตรที่จะออกนานที่สุด คือ 50 ปี เท่ากับระยะเวลาที่ต้องชำระหนี้เงินกู้ให้หมด
นอกจากนี้ จะยังมีการกู้เงินโดยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้แก่รายย่อยผ่านตู้เอทีเอ็ม เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มามีส่วนร่วมในโครงการลงทุนของรัฐบาล
ทั้งนี้ การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะเริ่มได้หลังกฎหมายมีผลบังคับ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มกู้ช่วงปลายปี 2556 โดยการกู้ครั้งแรกจะอยู่ที่ระดับหมื่นล้านบาท จากนั้นทยอยกู้เงินปีละ 3-5 แสนล้านบาท ตลอดเวลา 7 ปี
สำหรับการกู้เงินบริหารน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้น สบน.กำลังรอการสรุปโครงการจากรัฐบาลว่าแต่ละปีจะใช้เงินเท่าไร เพื่อนำมากำหนดวงเงินกู้ การกู้เงินต้องให้เสร็จสิ้นก่อน 30 มิ.ย.2556 โดยการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท มีการกู้เงินไปแล้ว 1 หมื่นล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริง 6,000 ล้านบาท